วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

บทคัดย่อการวิจัยเรื่อง การศึกษาสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทย

ชื่อวิจัย รายงานวิจัยแนะนำ [22-09-2552] : การศึกษาสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทย
ผู้วิจัย ศิริพันธุ์ สาสัตย์
แหล่งทุน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและมูลนิธิสถาบัน
ปีที่พิมพ์ 2552


บทคัดย่อ


การศึกษาสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทย ที่ให้บริการแก่ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยใช้วิธีวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสถานบริการในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ จำนวนบุคลากรและสมรรถนะของผู้ให้บริการ ลักษณะกิจกรรมการบริการ และเพื่อศึกษาคุณลักษณะของผู้รับบริการ

ผลการศึกษาพบว่ามีจำนวนสถานบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั้งหมด 138 แห่ง ร้อยละ 49.28 อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 43.48 เป็นสถานบริบาล สถานสงเคราะห์คนชราให้บริการทุกระดับความต้องการการดูแล ส่วนสถานบริบาลให้บริการตั้งแต่ส่งผู้ช่วยดูแลไปดูแลที่บ้านจนถึงดูแลระยะ สุดท้าย ร้อยละ 45 ของสถานสงเคราะห์ไม่มีพยาบาลประจำ ร้อยละ 45.5 ของสถานบริการไม่ได้ขึ้นทะเบียน สถานสงเคราะห์ของภาครัฐมีจำนวนเตียงเฉลี่ยมากที่สุด สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาลเอกชนเก็บค่าบริการสูงสุด ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 60-74 ปี สถานภาพสมรสหม้าย เกือบครึ่งไม่มีบุตร สาเหตุการย้ายเข้าไปอยู่ในสถานบริการคือไม่มีผู้ดูแล ร้อยละ 86.8 มีโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่าเสื่อม ปวดข้อ โรคเบาหวานและโรคหัวใจ จากการคัดกรองร้อยละ 41.6 มีภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 29.5 มีภาวะซึมเศร้าปานกลางถึงรุนแรง ร้อยละ 15.9 อยู่ในภาวะพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด

แต่พบมีภาวะพึ่งพาปานกลางถึงพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมดถึงร้อยละ 52.3 ร้อยละ 55.6 พบในสถานสงเคราะห์คนชรา ต้องการได้รับการดูแลถึง 20-27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 15-30 ปี สถานภาพสมรส และมีระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช.หรือเทียบเท่า บุคลากรส่วนใหญ่เป็นผู้ช่วยดูแล พบพี่เลี้ยงในบ้านพักคนชรา นักกิจกรรมบำบัดในสถานบริบาล นักสังคมสงเคราะห์ในบ้านพักคนชราและพยาบาลในสถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาลมาก ที่สุด ส่วนใหญ่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุแต่พบว่ายังมีทัศนคติเชิงลบ ต่อผู้สูงอายุ พึงพอใจในการทำงานระดับมากและพึงพอใจในเงินเดือนระดับปานกลาง พบในองค์กรธุรกิจมากที่สุด ส่วนใหญ่ต้องการทำงานต่อไป ให้ความสำคัญในด้านความรู้ การพัฒนาด้านบุคลิกลักษณะและวิธีการดูแลให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นแกนในการจัดบริการดูแลระยะยาว พัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกสภาวะ กำหนดมาตรฐานการดูแลและกำหนดองค์กรกำกับดูแลและรับขึ้นทะเบียน

2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ คือ พัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการ เช่น อบรมผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ กำหนดคุณสมบัติบุคลากรผู้ให้บริการและจัดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ช่วยการดูแล ส่งเสริมให้มีการบริการที่หลากหลาย เช่น บริการดูแลระยะสั้นและบริการดูแลกลางวัน และควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลแนวทางการพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุและกำหนดมาตรฐานการดูแล ผู้สูงอายุต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น