วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552

เศรษฐศาสตร์การศึกษา

เศรษฐศาตร์การศึกษา เป็นวิชาที่ว่าด้วยการประยุกต์วิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์ด้านการศึกษาทั้งในเชิง positive analysis และ normative analysis การศึกษาในเชิง positive analysis คือศึกษาสภาพที่เป็นจริงของระบบการศึกษาที่เกี่ยวกับโครงสร้าง (Structures) พฤติกรรม (Conducts) ผลการดำเนินงาน (Performances) และปัญหา สำหรับการศึกษาในเชิง normative analysis เป็นการศึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหา หรือแนวทางการปฎิรูประบบการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนด การประยุกต์เศรษฐศาสตร์นั้นใช้ทั้งเศรษฐศาสตร์จุลภาค (microeconomics) และ เศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics)
การนำเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาวิเคราะห์ด้านการศึกษา ทฤษฎีหลักที่นำมาวิเคราะห์ คือ ทฤษฎีหน่วยผลิต (Theory of the Firm) ภายใต้ทฤษฎีนี้พิจารณาสถาบันการศึกษาเปรียบเสมือนหน่วยผลิตหรือบริษัทที่ทำหน้าที่ขายบริการด้านการศึกษา เฉกเช่น บริษัทที่ขายบริการด้านอื่น เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจด้านท่องเที่ยว ขนส่ง หรือให้คำปรึกษาหรือทำวิจัย นักเรียนนักศึกษาเปรียบเสมือนวัตถุดิบที่เข้ามาในโรงงานคือสถาบันการศึกษา ทั้งนี้สถาบันการศึกษาจะผลิตบัณทิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งในการดำเนินงานผู้บริหารต้องกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ในการกำหนดเป้าหมาย รวมทั้งมีการตรวจสอบว่าผลประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ประเด็นการวิเคราะห์จึงมุ่งเน้นในการอธิบายและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดสรรทรัพยกรอย่างมีประสิทธิภาพ (allocation of resources) เช่น การดำเนินการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ (productivity) ประสิทธิผล (efficiency) การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษา และหาจุดที่เหมาะสม (optimum) ของการใช้ทรัพยากร โดยการสร้างตัวชี้วัดทางการศึกษาเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ (benchmark) ในการตรวจสอบและประเมินผล เช่น จำนวนครูต่อนักเรียน อัตราการอ่านออกเขียนได้ (Literacy rate) หรือ อัตราการเข้าเรียนรวม (Gross Enrollment Rate) เป็นต้น และนับตั่งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา การนำเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาประยุกต์ทางด้านการศึกษาจะสนใจทางด้านการใช้ ทฤษฎีการลงทุน (investment Theory) อธิบายการลงทุนทางด้านการศึกษาของปัจเจกชน ภายใต้หัวข้อ “ ทฤษฎีทุนมนุษย์ “ (Investment in Human Capital)
สำหรับการประยุกต์เศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อการวิเคราะห์ด้านการศึกษานำมาวิเคราะห์จะทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันหรือระบบการศึกษากับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและระบบการศึกษาต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ประเด็นที่วิเคราะห์ ในส่วนของบทบาทของสถาบันการศึกษา ต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สถาบันการศึกษากับตลาดแรงงาน การศึกษากับขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ บทบาทของภาครัฐในการจัดการกับระบบการศึกษา เป็นต้น สำหรับการศึกษาในประเด็นผลกระทบของระบบเศรษฐกิจต่อระบบการศึกษา เช่น การเปลี่ยนแปลงของสร้าง หรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษา หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อระบบการศึกษา (สถาบัน และนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา)
บทบาทและความสำคัญของการศึกษาต่อขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษานอกจากจะมีผลโดยตรงต่อตัวผู้เรียน คือจะทำให้ผู้ที่ได้รับการศึกษามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นทั้งทางด้านร่างการจิตใจ และรายได้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า หรือกล่าวในเชิงวิชาการว่า เป็นการสะสมทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาและสะสมทุนทางสังคม (social capital) คือสร้างความมั่นคงและความเท่าเทียมกันทางด้านสถานะและรายได้ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างให้ประชากรมีความรู้เรื่องสุขอนามัยและโภชนาการ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับการศึกษาดีขึ้น สำหรับผลกระทบของการศึกษาต่อขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ อธิบายได้ว่า ระบบการศึกษาเสมือนหนึ่งโรงงานที่แปลงหรือผลิตแรงงานให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า กล่าวอีกนัยคือ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน (labor productivity) แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตที่จะต้องใช้ร่วมกับทรัพยากรอื่นๆ เช่น เครื่องมือเครื่องจักร เทคโนโลยี วัตถุดิบ เพื่อที่จะดำเนินการผลิตสินค้าและบริการสนองตอบความต้องการของมนุษย์ ตามนัยดังกล่าวนี้ การศึกษาจึงนับว่ามีผลโดยตรงต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจซึ่งวัดด้วย มูลค่าผลผลิตรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการศึกษาดังที่อธิบายมามีข้อสังเกตว่า มุมมองความสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยพิจารณาว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต (factor of production) ที่ต้องพัฒนาเพื่อสนองตอบเป้าหมายคือการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมุมมองเช่นนี้ทำให้ละเลยถึงความสุขและสภาพแวดล้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคมที่จะทำให้มนุษย์มีควาสุข ดังนั้นจึงละเลยความสำคัญของการศึกษาที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ การศึกษานอกจากจะทำให้มนุษย์เป็นแรงงานหรือเป็นปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแล้ว การศึกษายังทำให้มนุษย์พัฒนาเป็นบุคคลที่นอกจากจะมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังทำให้เป็นบุคคลที่ร่างกาย จิตใจ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรม ซึ่งจะมีผลทางอ้อมที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ มุมมองผลของการศึกษาในประเด็นนี้ ได้เปลี่ยนจากมุมมองที่พิจารณามนุษย์เป็นเพียงแค่แรงงานมาเป็นเรื่อง การสะสมทุนมนุษย์ (Human capital)
การศึกษามีผลต่อการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การที่มีระบบการศึกษาที่ดีเป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็น (necessary condition) เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและพัฒนาได้ ถ้าหากว่าส่วนอื่น เช่น ไม่ได้มีการพัฒนา เช่น นโยบายทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค การพัฒนาขบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ขบวนการทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาเราอาศัยวัตถุดิบที่มีจำนวนมากและราคาถูก อาศัยแรงงานราคาถูก ซึ่งไม่ต้องการความรู้และทักษะมากเท่าใด แต่ปัจจุบันทรัพยากรเหลือน้อยลงและมีราคาแพงขึ้น ประกอบกับขบวนการผลิตได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี แรงงานจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความรู้และความสามารถในการบริหารการจัดการของนักธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะ Globalization และ การค้าเสรีภายใต้กรอบข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ดังนั้นบทบาทของการศึกษาจึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในการสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
ภาพรวมการศึกษาไทย ในการนำเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์การศึกษานั้น จุดแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ จำเป็นต้องรู้ถึงสภาพของการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในการเข้าในถึงสภาพการศึกษาของไทย พิจารณาได้จากดัชนีที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา ที่สำคัญได้แก่ ระดับการศึกษาของประชากรไทย ประชากรที่ของประเทศไทยที่มีอายุตั่งแต่ 13 ปี ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีประมาณร้อยละ 78 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้จัดว่าเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน (labor force) คิดเป็นร้อยละ 53 ของประชากรทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือ พวกแม่บ้าน นักเรียน นักศึกษา คนชราไม่จัดอยู่กำลังแรงงานมีประมาณร้อยละ 24 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนผู้ที่มีงานทำมีระดับการศึกษา จะเห็นว่าแรงงานร้อยละประมาณ 75 มีการศึกษาไม่เกินระดับประถม ที่มีการศึกษาระดับมัธยมและสูงกว่าประมาณร้อยละ 15 ของผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำมาก เหตุผลประการสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้แรงงานไทยมีการศึกษาในระดับที่ต่ำ เนื่องจากว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่คือประมาณร้อยละ 54 ยังอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งดำเนินการผลิตในรูปแบบการผลิตดั่งเดิม จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้มากนัก ทำให้เกษตรกรไทยขาดการนำเทคนิคการผลิตสมัยใหม่หรือความรู้วิทยาการสมัยใหม่มาใช้ จึงเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตรของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น