วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552

ปัญหาการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่ 4 แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม มาตรา 80 ( 3 ) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝั่งให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และ ( 5 ) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ ซึ่งนับว่าชัดเจนในแนวนโยบายด้านการนำลงสู่การปฏิบัติในระดับโรงเรียน และได้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ( พ.ศ. 2550 – 2554 ) ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ทิศทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดขึ้นบนพื้นฐานการเสริมสร้างทุนของประเทศทั้งทุนด้านสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ครอบคลุม 3 เรื่องหลักคือ การพัฒนาคนไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้ การเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ และการเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ( แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ( พ.ศ. 2550 – 2554 ) : 47 – 50 ) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2545 มาตรา 4 กำหนดให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษามีหน้าที่ความรับผิดชอบและบทบาทในการจัดการเรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์ ขัดเกลาและพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเจริญงอกงาม เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล และสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกฝน การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลง ความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ อันเกิดจากการจัดการสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับ ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2547:12 )
ภารกิจและความรับผิดชอบของโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาจะสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการศึกษาดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น ความสามารถในการบริหารจัดการของผู้บริหาร ความทุ่มเทในการปฏิบัติงานของบุคลากร การมีส่วนร่วมและสนับสนุนของผู้ปกครอง และชุมชนในการพัฒนาการศึกษา ผลของปัจจัยเหล่านี้จะสะท้อนถึงความสำเร็จของการปฏิบัติงาน คุณภาพของบุคลากร สถานศึกษา และมาตรฐานของโรงเรียน ( กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา. 2547 : 1-2 ) การจัดการศึกษา จึงนับว่าเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ของทุกประเทศในโลก เพราะว่าการศึกษามีหน้าที่หลักอยู่หลายประการ ประการแรกคือ การศึกษามีหน้าที่สร้างคน หมายความว่าตั้งแต่การสร้างพลเมือง การสร้างนักวิชาชีพ การสร้างแรงงาน นักวิชาการ ฯลฯ ประการที่สอง การศึกษาเป็นตัวสำคัญที่สุดในการสร้างความแข็งแกร่งทางสังคม และเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมเสื่อมหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตสังคม และประการที่สาม การศึกษาเป็นเสาหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ ( เกษม วัฒนชัย. 2545 : 1-2 ) สภาพปัญหาการจัดการศึกษาไทยยังไม่ค่อยมีคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่ผลผลิตทางการศึกษา คือ ผู้เรียนยังมีคุณลักษณะต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการที่จะพัฒนาคนให้มีปัญญา คิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น หรืออาจกล่าวได้ว่าการศึกษาไม่สามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตของประชาชน จึงทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลเป็นไปได้ยาก เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย กรอบการดำเนินงานและยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่เหมาะสม ( ดุษฎี โยเหลา ; ประสิทธิ์ สาระจันทร์ : และ ยุทธนา ไชยจูกูล. 2543 : 47 – 48 ) การศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมา ได้รับการวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำหน้าที่ หรือบทบาทสำคัญดังกล่าวได้ เพราะมีปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะพิจารณาในด้านปริมาณ และคุณภาพ ความจริงที่ปรากฏและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และข้อเท็จจริงที่พบจากงานวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารากฐานสำคัญของปัญหาคือ คนไทยส่วนใหญ่ขาดภูมิปัญญาในการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา ตลอดจนไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก บุคคลระดับผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังขาดซึ่งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ขาดภาวะผู้นำ และขาดการรอบรู้ในสภาวการณ์ และกลยุทธ์ในการบริหารอย่างเพียงพอ ( รุ่ง แก้วแดง. 2542 ก. : 1-2 , ประเวศ วะสี. 2541 : 29, สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา, 2544 : 3 )
ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อีกด้านหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการบริหารกิจการใดๆที่เกี่ยวกับสาธารณะในยุดโลกภิวัตร มีความจำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารหรือมืออาชีพ จึงจะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นบรรลุจุดมุ่งหมาย รวมถึงการบริหารสถานศึกษาก็จำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ จึงจะทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาประสบความสำเร็จและเป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545 ก : 1 ) นั่นหมายถึงว่า การที่ผู้เรียนจะจบหลักสูตร มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจ มีพื้นฐานทางความคิด มีประสิทธิภาพในการทำงานนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้ออกแบบและจัดระบบการศึกษา ทั้งระบบความคิด และระบบการบริหาร ซึ่งหมายถึงการนำเอาทรัพยากรเพื่อการศึกษาไปใช้ในกระบวนบริหารให้เกิดผลผลิตทางการศึกษาที่ประเทศชาติต้องการ ( เกษม วัฒนชัย, 2546 : 2 ) คุณภาพของผลผลิตทางการศึกษาต่ำ เห็นได้จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ศึกษาผลการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งจัดโดย UNESCO ย้อนหลัง 5 ปี ( พ.ศ. 2539-2543 ) พบว่าใน 5 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี และคอมพิวเตอร์ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์ พบว่า ศักยภาพการศึกษาของประเทศไทยด้อยกว่าทุกประเทศข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ( ธีระ รุณเจริญ, 2545 : 13 ) จากผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวได้มีนักวิชาการทำการศึกษาหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหาการจัดการศึกษาไทย พบว่า กระบวนการดำเนินงานของผู้บริหารมีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน อาทิเช่น รายงานผลการดำเนินงานโครงการนำร่องระดับชาติ ตามโครงการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพื่อศึกษาปัจจัย และเงื่อนไขที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ พบว่า ตัวแปรที่สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงาน ได้แก่ ตัวบ่งชี้ด้านกระบวนการดำเนินงานของผู้บริหาร ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลที่มีขนาดสูงเป็นสองเท่าของอิทธิพลจากตัวแปรอื่น ๆ อีก 6 ตัวแปร ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการบริหารของผู้บริหารมีอิทธิพลต่อคุณภาพของผู้เรียน ( นงลักษณ์ วิรัชชัย, 2545 : 179 )
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียน จะทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์ต่อพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียน อันจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการชี้แนะต่อการบริหารโรงเรียนต่อไป กระนั้นก็ยังพบว่าการศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการบริหารของผู้บริหารโรงเรียน ที่พบยังก่อเกิดประเด็นปัญหาที่ต้องคำนึงถึงนั่นคือ
1. วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ในการศึกษาที่ผ่านมาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณเชิงเส้นหรือการวิเคราะห์อิทธิพลตามแบบดั่งเดิมซึ่งพบว่ามีจุดอ่อนหลายประการ คือ
1.1 การประมาณค่าของขนาดอิทธิพลจากสมการโครงสร้าง ยังเป็นการประมาณค่าจากสมการโครงสร้างแต่ละสมการแยกกัน ตามความเป็นจริงเมื่อค่าขนาดอิทธิพลค่าหนึ่งเปลี่ยนแปลงควรมีผลกระทบรวมถึงขนาดอิทธิพลอื่นๆ ด้วย ซึ่งในการประมาณค่าอิทธิพลตามวิธีดั่งเดิมไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
1.2 การประมาณค่าอิทธิพลทางอ้อมและผลรวมอิทธิพลนั้นยังไม่มีการพัฒนาวิธีการทดสอบนัยสำคัญของขนาดอิทธิพล แม้ว่าวิธีการทดสอบถูกพัฒนาขึ้นในระยะหลังแต่ต้องมีการคำนวณต่างหากและค่อนข้างยุ่งยาก
1.3กระบวนการวิเคราะห์ยังใช้การวิเคราะห์ถดถอยและนำผลการวิเคราะห์มาคำนวณต่อ เมื่อผลการทดสอบความตรงของโมเดลได้ผลว่าโมเดลไม่สอดคล้องกับข้อมูลต้องมีการรีบปรับแก้โมเดลแล้ววิเคราะห์ใหม่ ทำให้การวิเคราะห์เสียเวลาและจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดคือ การปรับแก้โมเดลโดยให้โมเดลมีความสัมพันธ์ย้อนกลับหรือโมเดลมีตัวแปรแฝง หรือเทอมความคลาดเคลื่อนมีความสัมพันธ์กันทำไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นการวิเคราะห์อิทธิพลด้วยโปรแกรมลิสเรล( Lisrel ) นักวิจัยจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้โดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับจุดอ่อนของการวิเคราะห์แบบดั่งเดิม ( นงลักษณ์ วิรัชชัย. 2542 : 199 – 200 )
ดังนั้นเพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษามีพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียน จึงน่าที่จะสนใจ ที่จะพัฒนาแบบจำลองโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมภาวะผู้นำในการบริหารการศึกษา ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยใช้วิธีการวิเคราะห์อิทธิพลด้วยโปรแกรมลิสเรล ( Linear Structural Relationship : Lisrel ) และเน้นการอธิบายปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมภาวะผู้นำในการบริหารการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพตามรูปแบบปฏิสัมพันธ์นิยม(Interactionnism model ) ที่ถือได้ว่าเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยในสายของพฤติกรรมศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและเป็นกรอบแนวคิดในการทำวิจัยที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านต่างๆ ( Magnusson : & Endler. 1976 : Tett : & Burnett. 2003 : ดวงเดือน พันธุมนาวิน. 2541 ) ซึ่งพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมมีทั้งหมด 7 ด้านประกอบด้วย 1)ความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ 2)การสร้างบารมี 3)การคำนึงถึงความเป็นเอกบุคคล 4)การกระตุ้นปัญญา 5)การสร้างแรงบันดาลใจ 6)การให้รางวัลตามสถานการณ์ 7)การเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งมีผลเกิดมาจากตัวแปรด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ที่ประกอบด้วย การรับรู้ในคุณลักษณะภาวะผู้นำซึ่งได้แก่ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( Transformational leadership ) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน ( Transactional leadership ) ภาวะผู้นำแบบปล่อยตามสบาย ( Laissez – faire leadership ) และความพึงพอใจ ตัวแปรด้านสถานการณ์ในการทำงานที่ประกอบด้วย การได้รับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน และ การรับรู้การควบคุมในการทำงาน ตัวแปรจิตลักษณะเดิม ประกอบด้วย ความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ และบุคลิกภาพสร้างสรรค์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานทางการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำผลจากการศึกษาไปเป็นแนวทางในการพิจารณาถึงปัจจัยที่ควรส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพของการบริหารการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างมั่นใจต่อไป

รูปแบบจำลองโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัยตามรูปแบบปฏิสัมพันธ์นิยม ( Interactionism model ) และศึกษาตัวแปรที่เป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมมีทั้งหมด 7 ด้านประกอบด้วย 1)ความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ 2)การสร้างบารมี 3)การคำนึงถึงความเป็นเอกบุคคล 4)การกระตุ้นปัญญา 5)การสร้างแรงบันดาลใจ 6)การให้รางวัลตามสถานการณ์ 7)การเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งมีผลเกิดมาจากตัวแปรด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ที่ประกอบด้วย การรับรู้ในคุณลักษณะภาวะผู้นำซึ่งได้แก่ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( transformational leadership ) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน ( transactional leadership ) ภาวะผู้นำแบบปล่อยตามสบาย ( laissez – faire leadership ) และความพึงพอใจ ตัวแปรด้านสถานการณ์ในการทำงานที่ประกอบด้วย การได้รับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน และ การรับรู้การควบคุมในการทำงาน ตัวแปรจิตลักษณะเดิม ประกอบด้วย ความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ และบุคลิกภาพสร้างสรรค์ ซึ่งตัวแปรที่เป็นสาเหตุทั้งสามด้านนี้ จะใช้อธิบายโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาได้หรือไม่ และจะอธิบายรายละเอียดอย่างไร

การศึกษาวิจัยจึงควรมีความมุ่งหมายของการวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบจำลองโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามรูปแบบปฏิสัมพันธ์นิยม ( Interactionism model ) โดยมีความมุ่งหมายเฉพาะของการวิจัย ดังนี้
1. เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปร ในกลุ่มจิตลักษณะเดิมของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาว่าส่งผลต่อจิตลักษณะตามสถานการณ์และพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาหรือไม่อย่างไร
2. เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปร ในกลุ่มสถานการณ์ในการทำงานของผู้บริหาร โรงเรียนมัธยมศึกษาว่าส่งผลต่อจิตลักษณะตามสถานการณ์และพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา หรือไม่ อย่างไร
3.เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรในกลุ่มจิตลักษณะเดิมและสถานการณ์ในการทำงานของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาว่าร่วมกันส่งผลต่อพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา หรือไม่ อย่างไร

การวิจัยนี้จึงควรศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพ ของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งผลจากการวิจัยน่าจะก่อให้เกิดคุณค่าทางการบริหารการศึกษาที่มีประสิทธิภาพทั้งทางด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติดังนี้
1. ผลที่ได้ทางทฤษฎี ทำให้ค้นพบเกี่ยวกับการนำรูปแบบปฏิสัมพันธ์นิยมมาใช้ในการกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย ทั้งนี้ถ้าผลการวิจัยเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ก็แสดงว่ารูปแบบปฏิสัมพันธ์นิยมมีความเหมาะสมในการนำมาเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยเพื่อการอธิบายสาเหตุแห่งพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา และทำให้ได้ข้อค้นพบในการอธิบายพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาจากการบูรณาการตัวแปรที่เป็นสาเหตุสำคัญต่อพฤติกรรมภาวะผู้นำอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมมีทั้งหมด 7 ด้านประกอบด้วย 1)ความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ 2)การสร้างบารมี 3)การคำนึงถึงความเป็นเอกบุคคล 4)การกระตุ้นปัญญา 5)การสร้างแรงบันดาลใจ 6)การให้รางวัลตามสถานการณ์ 7)การเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งเกิดมาจากตัวแปรที่เป็นสาเหตุด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ที่ประกอบด้วย การรับรู้ในคุณลักษณะภาวะผู้นำซึ่งได้แก่ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( transformational leadership ) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน ( transactional leadership ) ภาวะผู้นำแบบปล่อยตามสบาย ( laissez – faire leadership ) และความพึงพอใจ ตัวแปรด้านสถานการณ์ในการทำงานที่ประกอบด้วย การได้รับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน และ การรับรู้การควบคุมในการทำงาน ตัวแปรจิตลักษณะเดิม ประกอบด้วย ความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ และบุคลิกภาพสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการประสานแนวคิดและทฤษฎีทางจิตวิทยา สังคมวิทยา และทางการบริหารการศึกษาเข้าด้วยกัน
2. ผลที่ได้เชิงปฏิบัติ ทำให้ทราบถึงระดับความสามารถในด้านการบริหารการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนเพื่อที่จะส่งเสริมหรือพัฒนาต่อไป และทำให้ทราบถึงปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมภาวะผู้นำในการบริหารการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนในการนำการวิจัยเป็นแนวทางในการพิจารณาถึงความสำคัญที่ควนส่งเสริมและพัฒนาเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการบริหารการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาได้อย่างมั่นใจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น