วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 8

5. แนวคิดทางศาสนาเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย

             1) แนวคิดของพระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของนักบริหารไว้ว่า นักบริหารจะทำหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถ้ามีคุณลักษณะ 3 ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุติปาปณิกสูตร ดังนี้ 1) จักขุมา หมายถึง มีปัญญามองการณ์ไกล ต้องสามารถวางแผนและฉลาดในการใช้คน คุณลักษณะข้อแรกนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า conceptual skill คือ ความชำนาญในการใช้ความคิด 2) วิธูโร หมายถึง จัดการธุระได้ดีมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คุณลักษณะที่สองนี้ตรงกับคำว่า technical skill คือความชำนาญด้านเทคนิค 3)นิสสยสัมปันโน หมายถึง พึ่งพาอาศัยคนอื่นได้ เพราะเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี ข้อนี้ตรงกับคำว่า humanrelation skill คือความชำนาญด้านมนุษยสัมพันธ์ (พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), 2541 : 7 – 9. )

         (2) แนวคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้บริหารไว้ว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ผู้นำ และผู้ปกครองรัฐ ตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์ ตลอดจนนักปกครองทั่วไป มีหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติ และเป็นข้อปฏิบัติ ดังนี้ ก) ทรงทศพิธราชธรรม คือ มีคุณธรรมของผู้ปกครอง หรือ ราชธรรม (ธรรมของพระราชา) 10 ประการ ดังนี้ 1) ทาน ให้ปันช่วยประชา คือ บำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้เขาได้ มิใช่เพื่อจะเอาจากเขา เอาใจใส่อำนวยบริการ จัดสรรความสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ให้ประชาราษฎร์ได้รับประโยชน์สุข ความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนประสบทุกข์และให้ความสนับสนุนแก่คนทำความดี 2) ศีล รักษาความสุจริต คือ ประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณประพฤติให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ผู้ใดจะดูแคลน3) ปริจจาคะ บำเพ็ญกิจด้วยเสียสละ คือ สามารถเสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตนได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 4) อาชชวะปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชน 5) มัททวะ ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ควรได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง 6) ตปะ พ้นมัวเมาด้วยเผากิเลส คือ แผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญ และการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออยู่อย่างง่าย ๆ สามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจในหน้าที่ให้บริบูรณ์7) อักโกธะ ถือเหตุผลไม่โกรธา คือ ไม่เกรี้ยวกราด ไม่วินิจฉัยความและกระทำการด้วยอำนาจความโกรธ มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามธรรม 8) อวิหิงสา มีอหิงสานำร่มเย็น คือไม่หลงระเริง ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณาไม่หาเหตุเบียดเบียน ลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด ด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง 9) ขันติชำนะเข็ญด้วยขันติ คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ อดทนต่อความเหนื่อยยาก ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกหยันด้วยถ้อยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกิจกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม 10) อวิโรธนะ มิปฏิบัติคลาดจากธรรมคือ ประพฤติมิให้ผิดจากประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้ง อันใดประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรม ก็ไม่ขัดขืน การใดจะเป็นไปโดยชอบธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ไม่ขัดขวางวางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใด ๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม ก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผน หลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป ข) บำเพ็ญกรณีย์ของจักรพรรดิ คือ ปฏิบัติหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร (ธรรมเนียมหรือหน้าที่ประจำของจักรพรรดิ) 5 ประการ คือ 1) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ยึดถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล หลักการ กฎกติกาที่ชอบธรรม เป็นบรรทัดฐาน เคารพธรรม เชิดชูธรรม นิยมธรรม ตั้งตนอยู่ในธรรม ประพฤติธรรมด้วยตนเอง2) ธรรมิการักขา ให้ความคุ้มครองโดยธรรม คือ จัดอำนวยการรักษาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน คือ คนภายใน ข้าราชการฝ่ายทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครองข้าราชการพลเรือน นักวิชาการ และคนต่างอาชีพ เช่น พ่อค้าและเกษตรกร ชาวนิคมชนบทและชนชายแดน พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม ตลอดจนสัตว์เท้า สัตว์ปีก อันควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย 3) มาอธรรมการ ห้ามกั้นการอาธรรม์ คือ จัดการป้องกันแก้ไข มิให้การกระทำที่ไม่เป็นธรรม การเบียดเบียนข่มเหง และความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อน เกิดมีขึ้นในบ้านเมือง ชักนำประชาชนให้ตั้งมั่นในสุจริตและนิยมธรรม รวมทั้งจัดวางระบบที่กันคนร้าย ให้โอกาสคนดี 4) ธนานุประทาน ปันทรัพย์แก่ชนผู้ยากไร้ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแผ่นดินเช่น จัดให้ราษฎรทั้งปวงมีทางหาเลี้ยงชีพ ทำมาหากินได้โดยสุจริต 5) ปริปุจฉา ไม่ขาดการสอบถามปรึกษา แสวงปัญญาและความดีงามยิ่งขึ้นไป โดยมีที่ปรึกษาที่ทรงวิชาการ ทรงคุณธรรมผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา ที่จะช่วยให้เจริญปัญญาและกุศลธรรม หมั่นพบปะพระสงฆ์และนักปราชญ์ ไถ่ถามหาความรู้หาความดีงามหาความจริงและถกข้อปัญหาต่าง ๆ อยู่โดยสม่ำเสมอตามกาลอันควร เพื่อซักซ้อมตรวจสอบตนให้เจริญก้าวหน้าและดำเนินกิจการในทางที่ถูกต้องชอบธรรม ดีงาม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างแท้จริง ค) ประกอบราชสังคหะ คือทำนุบำรุงทวยราษฎร์ให้ประชาชาติดำรงอยู่ในเอกภาพและสามัคคี ด้วยหลักธรรมที่เรียกว่าราชสังคหวัตถุ (หลักสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา) 4 ประการ คือ 1) สัสสเมธะ ฉลาดบำรุงธัญญาหาร คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ 2) ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงข้าราชการ คือ ปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุงข้าราชการ ด้วยการส่งเสริมคนดีมีความสามารถ และจัดสวัสดิการให้ดี เป็นต้น 3) สัมมาปาสะผูกประสานปวงประชา คือ ผดุงผสานประชาชนไว้ด้วยนโยบายส่งเสริมอาชีพ เช่น จัดทุนให้คนยากจนยืมไปสร้างตนในพาณิชยกรรม หรือดำเนินกิจการต่าง ๆ ไม่ให้ฐานะเหลื่อมล้ำห่างเหินจนแตกแยกกัน 4) วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ คือ รู้จักพูด รู้จักชี้แจงแนะนำ รู้จักทักทายไถ่ถามทุกข์สุขราษฎรทุกชั้น แม้ปราศรัยก็ไพเราะน่าฟัง ทั้งประกอบด้วยเหตุผล เป็นหลักฐาน มีประโยชน์ เป็นทางแห่งการสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหา เสริมความสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจดีความเชื่อถือ และความนิยมนับถือ ง) ละเว้นอคติ นักปกครอง เมื่อปฏิบัติหน้าที่ พึงเว้นความลำเอียง หรือความประพฤติที่คลาดเคลื่อนจากธรรม 4 ประการ 1) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ2) โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง 3) โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา และ4) ภยาคติ ลำเอียงเพราะขลาดกลัว (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2545 : 27 – 30.)

       (3) แนวคิดของเล่าจื้อ แห่งลัทธิเต๋า ได้กล่าวถึง คุณสมบัติความเป็นผู้นำสามประการต่อไปนี้ มีค่ายิ่งสำหรับผู้นำ 1) ความเมตตากรุณาสำหรับสัตว์โลกทั้งมวล 2) ความเรียบง่ายและมัธยัสถ์ทางวัตถุ หรือความกระเหม็ดกระแหม่ และ3) ความรู้สึกเสมอภาคหรือความอ่อนน้อมถ่อมตนนอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ใช้ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพจากการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง มาศึกษาในการวิจัยครั้งนี้ด้วย และจากแนวคิดดังกล่าวข้างต้นสามารถนำมาประกอบเป็นกรอบแนวคิดที่ผู้วิจัยใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ (บุญมาก พรหมพ้วย, 2529 : 146 – 148.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น