วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 5

         2. แนวคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพของนักวิชาการในประเทศ ประกอบด้วย

        2.1 แนวคิดของภิญโญ สาธร ที่กล่าวว่า ในการบริหารงานต่าง ๆ ในสังคมไทยนั้น ผู้นำจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1)ใจกว้าง ใจดี ไม่ตระหนี่ต่อการเลี้ยงดูและให้รางวัล 2) มีพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในสถานที่ สถานการณ์ และเวลาอันเหมาะสม 3) หนักแน่น ไม่หูเบา รับฟังจากทุกฝ่าย 4) มีความยุติธรรม และให้ความเสมอภาคแก่ทุกคน 5) ซื่อสัตย์และสุจริต 6) ตรงต่อเวลา 7) ขยันและอุทิศเวลาให้แก่งาน 8) กล้ารับผิด 9) มีความจริงใจในการพูดและการกระทำทุกชนิด 10) เอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของผู้น้อยอยู่เสมอ 11) อ่อนหวาน นอบน้อม สุภาพ 12) รู้จักเลือกใช้คน 13) อดทนด้วยความเยือกเย็นต่อคำพูดที่ขัดแย้งหรือไม่เป็นมิตรทุกชนิด 14) ติดตามคำสั่งที่สั่งการไปแล้วอยู่เสมอ 15) ฉลาดที่จะกระตุ้นเตือนผู้น้อยเมื่อล่าช้าหรือผิดพลาด 16) หมั่นอบรมผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ให้มีความสามารถและรู้วิธีการปฏิบัติงานโดยเหมาะสม 17) ให้ผู้น้อยพบปะได้โดยง่าย 18) กินง่ายอยู่ง่ายไม่ถือตัว เข้ากับคนทุกชั้นได้ 19) ชมคนเป็น และขยันชม 20) ไม่ดุด่า หรือกล่าวผรุสวาทใด ๆ ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา21) รู้จักใช้อำนาจโดยไม่ให้ผู้อื่นรู้สึกว่าถูกบีบบังคับ 22)ให้เกียรติเจ้าของความคิดหรือเจ้าของโครงการใหม่ ๆ เสมอ 23) ไม่โลเลเปลี่ยนใจง่าย 24) สั่งงานเป็น ถูกจังหวะ เหมาะกับคนที่รับงานไปปฏิบัติ 25) เป็นตัวอย่างที่ดีทุกด้านของผู้น้อย 26) รักษาระเบียบวินัย ปฏิบัติงานตามข้อบังคับและกฎหมายโดยเคร่งครัดทุกโอกาส 27)ละเว้นจากการประพฤติชั่วซึ่งจะทำให้สังคมรังเกียจตามสภาพของวัฒนธรรมไทย 28) มีความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว มั่นคง แน่นอน 29) รู้จักถนอมน้ำใจคน30) รู้จักสร้างและระวังรักษาบุคลิกลักษณะของตนอยู่เสมอ(ภิญโญ สาธร, 2523 : 151 -152 )

          2.2 แนวคิดของ สมพงษ์ เกษมสิน ซึ่งมีความเห็นว่า คุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับผู้นำ แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน คือ 1) ด้านพื้นฐานและประสบการณ์ (background and experience) ในการปฏิบัติงาน ได้แก่ การตัดสินใจ การวินิจฉัยสั่งการ การวางแผน ความสามารถทางด้านเทคนิคและการบริหาร และทักษะในการทำงานด้านต่าง ๆ 2) ด้านสติปัญญา และคุณภาพของสมอง (intellectual and mental qualities) ได้แก่ความสามารถทางด้านภาษา ความสามารถทางด้านเหตุผล ความสามารถจดจำ ความสามารถด้านรอบรู้ทั่วไป ความสามารถในการใช้ดุลยพินิจ ความสามารถในการปรับตัวด้านต่าง ๆ 3) ด้านคุณลักษณะทางกาย (physical attributes) ได้แก่ การมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี4) ด้านบุคลิกภาพและความสนใจ (personality and interest) ได้แก่ ความกระตือรือร้นและความเต็มใจในการปฏิบัติงาน ความเชื่อมั่นในตนเอง และความรับผิดชอบ (สมพงษ์ เกษมสิน, 2526 : 296 – 298 )

          2.3 แนวคิดของธงชัย สันติวงษ์ ได้กล่าวเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้บริหารไว้ว่า จะต้องมีความสามารถในการประสานงาน ประสานคน ประสานความคิด เป็นผู้ที่มีความอดทน ไม่แสดงความโกรธ ความหงุดหงิด ความก้าวร้าวให้ผู้อื่นเห็น มีสายตายาวไกล มีจิตใจมั่นคง ไม่อ่อนไหวง่าย ยิ้มได้เมื่อภัยมา มองปัญหารอบข้างเป็นเรื่องง่ายต่อการแก้ปัญหา และสามารถเลือกสรรกลยุทธ์ ในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริง เพื่อความสำเร็จของงานอย่างมีประสิทธิภาพ (ธงชัย สันติวงษ์, 2531 : 2 )

           2.4 แนวคิดของวิศิษฎ์ พิพัฒน์ภิญโญพงค์ ได้เสนอหลักและวิธีการปฏิบัติงานเพื่อเป็นผู้บริหาร โดยเน้นการสร้างคุณลักษณะสำคัญ 10 ประการ คือ 1) การรักษาระเบียบวินัย 2) การเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา 3) มีความเสียสละและให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนร่วมงาน 4) มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน 5) ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต 6)มีความตรงต่อเวลา 7) มีความรับผิดชอบต่อองค์กร งาน และลูกค้า 8) ประหยัดให้องค์กรอย่างสมเหตุสมผล9) รักษาสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 10) มองโลกในแง่ดี (วิศิษฎ์ พิพัฒน์ภิญโญพงค์, 2535 : 38 -39 )

          2.5 แนวคิดของอำนวย วีรวรรณ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน ไว้ 7ประการ คือ 1) ความเป็นผู้รู้ซึ้งถึงแก่นงาน คือ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาในการปฏิบัติ นำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ และพยายามใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา 2) ความเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีจิตสำนึกอยู่เสมอว่า วิทยาการต่าง ๆ ในโลกก้าวหน้า และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาต้องตื่นตัวปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของโลก 3) ความเป็นผู้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นศิลป์ในการดำเนินงานไม่ให้กระทบกระเทือนต่อผู้ร่วมงานหรือผู้อื่น 4)ความเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ คือ ต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ร่วมงาน เข้ากับคนอื่นได้เป็นอย่างดีรู้จักใช้ศิลปะในการเจรจา และรู้จักสร้างศรัทธา และบำรุงขวัญเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย5) ความเป็นผู้เคารพนับถือในความคิดเห็นของผู้อื่น และรู้จักแสดงความคิดเห็นของตนโดยจะต้องรู้จักฟังและนับถือความคิดเห็นของผู้อื่น 6) ความเป็นผู้กล้าตัดสินใจ และมีความมานะพยายามคือ มีความกล้าหาญในการตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่น และยอมทุ่มเทสติปัญญา กำลังและความสามารถในการทำงานแม้ว่าจะเป็นงานหนักก็ตาม 7) ความเป็นผู้มีคุณธรรมกำกับวิถีทางชีวิตโดยจะต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดี เพียบพร้อมด้วยสัจธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบหรือเห็นแก่ได้ โดยไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น (อำนวย วีรวรรณ,2535 : 194 – 199 )

           2.6 แนวคิดของดนัย เทียนพุฒ ได้สรุปปัจจัยใหม่ของผู้บริหารระดับสูง โดยกล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1) การมองการณ์ไกล ได้แก่ ความสามารถวาดภาพกฎเกณฑ์ในอนาคตได้สมจริงและมีการวางแผนและการเตรียมการสำหรับงานในอนาคตได้อย่างเหมาะสม 2) ความเป็นผู้นำ ได้แก่ กล้าตัดสินใจ มีความอดทน มีความสามารถในการแก้ปัญหาและสามารถโน้มน้าวผู้อื่นให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้แก่ มีความคิดริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ ๆ สามารถยืดหยุ่นวิธีการเพื่อความสำเร็จของงาน และค้นคว้าวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพ 4) มีความสามารถในการเจรจาจูงใจหรือเป็นนักล็อบบี้ได้แก่ มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง และเป็นนักมนุษยสัมพันธ์ชั้นสูง 5)มีความคิดเชิงธุรกิจและความรับผิดชอบได้แก่ เป็นนักการตลาด ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ 6) ประนีประนอม ได้แก่สามารถยืดหยุ่นวิธีการเพื่อความสำเร็จของงาน และมีความสามารถในการประสานประโยชน์ (ดนัย เทียนพุฒ, 2536 : 203 - 206

           2.7 แนวคิดของวีระวัฒน์ ปันนิตามัย ได้กล่าวถึงคุณลักษณะพึงประสงค์ของการเป็นผู้นำที่ดี ไว้ดังนี้ 1) แสดงความเป็นของแท้ (authenticity) หมายถึง ผู้นำต้องแสดงความเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งที่ตนยึดถือต่อค่านิยมเชิงสร้างสรรค์อย่างแท้จริง กระตุ้นและก่อให้เกิดความทะเยอทะยาน สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์การได้ สนับสนุนศรัทธาคำพูดของตนด้วยการกระทำ 2) การมีวิสัยทัศน์(vision) หมายถึง ผู้นำมีความสามารถพินิจพิเคราะห์ สภาพแวดล้อมทั้งในและนอกองค์การในแง่มุมของอดีตและปัจจุบัน คาดคะเนพยากรณ์ และสร้างภาพ (image) ฉายไปในอนาคตได้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรแล้วทำการสื่อสาร (communication)ภาพดังกล่าวให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ 3) ต้องมีความกล้าตัดสินใจ (decisiveness) คือ ต้องทำการตัดสินใจที่เหมาะสม ทันกาลและต้องตัดสินใจภายใต้ข้อมูลและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ผู้นำที่ดีต้องกล้ารับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจใด ๆ ที่เกิดขึ้น 4) แสดงความใส่ใจ (focus) ผู้นำต้องเลือกที่จะใส่ใจและสนใจในบางเรื่อง ไม่ควรใส่ใจเสียเวลาในทุกเรื่องหรือให้ความสำคัญในบางเรื่องเท่ากันหมด การจัดลำดับความสำคัญความเร่งด่วนของงานที่ทำจึงมีความหมายมาก 5) สร้างความรู้สึกประทับใจเป็นส่วนตัว (personal touch) ผู้นำที่ดีต้องสามารถสร้างศรัทธาและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใต้บังคับบัญชา รู้จักการใช้ช่องทางการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการได้อย่างถูกกาลเทศะ สอบถามทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา รู้จักสร้างขวัญและกำลังใจ 6) มีความสนใจในการสื่อสารและเก่งคน(communication and people skill) ทักษะการพูด ฟัง เขียน อ่าน ของผู้นำจะสะท้อนให้เห็นความสามารถของสมอง ผู้นำไม่สามารถจะทำงานทุกอย่างได้ด้วยตนเองภายใต้เวลาที่จำกัดความสามารถสื่อสารและอาศัยการเก่งคน การมีเครือข่ายมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จะสามารถทำให้ผู้นำสามารถร้องขอความช่วยเหลือ กระตุ้นแรงจูงใจและใช้ “คน” ทำงานได้สำเร็จตามที่ผู้นำต้องการ7) การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ (ever forward) ผู้นำจะต้องพัฒนาลักษณะการทำงานให้ดีอยู่เสมอเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น (วีระวัฒน์ ปันนิตามัย, 2537 : 13 -16 )

             2.8 แนวคิดของศิริพร พงศ์ศรีโรจน์ ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้นำที่ดีไว้ดังนี้ 1) คุณลักษณะด้านวิชาการ ได้แก่ 1.1) มีความรู้ด้านวิชาชีพเป็นอย่างดี 1.2) มีความรู้ด้านความรู้ทั่ว ๆ ไปดี 1.3) มีประสบการณ์ในการบริหาร 2) คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพ ได้แก่ 2.1) มีบุคลิกภาพด้านร่างกายดี บุคลิกลักษณะดี แต่งกายถูกต้อง มีชีวิตชีวาวาจาดี วางตนเหมาะสม 2.2) มีบุคลิกภาพด้านจิตใจดี มีความเชื่อมั่น ศรัทธาผู้อื่น มีความอดทนกล้าหาญ มีเมตตาจิต มีวินัย มีใจเป็นธรรม และมีอารมณ์ขัน 2.3)มีบุคลิกภาพด้านสังคมดีมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม เห็นประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน3) คุณลักษณะด้านความสามารถในการปฏิบัติงาน มีสติปัญญาฉลาด รู้บทบาทตน รับผิดชอบมีความกล้า แนบเนียน เด็ดขาด กระตือรือร้น บังคับตนเองได้ รวมทั้งมีความสามารถในด้านการตัดสินใจ การจูงใจ การประสานงาน มีผลงานที่ประสบผลสำเร็จ (ศิริพร พงศ์ศรีโรจน์, 2538 : 190 – 191 )

           2.9 แนวคิดของเอกชัย กี่สุขพันธ์ ได้กล่าวถึง ผู้บริหารในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบันควรมีคุณสมบัติดังนี้ 1) มองกว้างไกลอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ (vision) สามารถที่จะกำหนดกลยุทธ์ในการบริหาร (strategic management) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องมีทักษะที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายการทำงาน กำหนดนโยบาย และวิธีการทำงานที่ชัดเจน 2) สามารถที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ (analyze situations) เพื่อกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายและนโยบายได้อย่างเหมาะสม 3) ไวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งภายนอก และภายในองค์กร ทั้งจะต้องรู้จักวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอีกด้วย 4)ความสามารถในการจัดระบบการสื่อสารให้ได้ผล (effective communication) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทุกระดับ ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เป็นอย่างดี 5) ความสามารถในการบริหารทรัพยากรบุคคล (human resource management) ต้องสามารถวางแผนบุคลากรสรรหาคัดเลือกกำหนดระบบค่าจ้าง เงินเดือน ผลตอบแทน ความก้าวหน้าในอาชีพ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและวิจัยเกี่ยวกับบุคลากรในองค์การ เพื่อให้ทราบถึงแนวคิด ทัศนคติ ความอึดอัดใจ ความไม่พอใจต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และนำมาเป็นข้อมูลในการบริหารทรัพยากรบุคคล 6) มีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหาร สามารถที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติ เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้เป็นแบบอย่าง ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม (เอกชัย กี่สุขพันธ์, 2538 : 19 -20 )

            2.10 แนวคิดของอภิรมย์ ณ นคร ได้กล่าวไว้ว่า ความเจริญของโรงเรียนต้องอาศัยคุณลักษณะของผู้บริหาร ดังนี้ 1) สมรรถภาพทางส่วนตัว ได้แก่ 1.1) มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางกายและจิตใจ 1.2) มีความเฉลียวฉลาด 1.3) มีบุคลิกภาพดี 1.4) มีอารมณ์ขัน และไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ 1.5) มีศีลธรรมจรรยา 1.6) ซื่อสัตย์และมั่นคง 1.7)มีเหตุผล และมีความยุติธรรม 2) สมรรถภาพทางวิชาชีพ ได้แก่ 2.1) มีพื้นฐานการศึกษาที่สูงพอ 2.2) มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา 2.3) มีประสบการณ์ก่อนที่จะรับตำแหน่งอย่างเพียงพอ 2.4) มีความสามารถต่อการทำงานเป็นกลุ่ม (อภิรมย์ ณ นคร, 2521 : 12 -13 )

              2.11 แนวคิดของวิจิตร วรุตบางกูร และสุพิชญา ธีระกุล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้บริหารโรงเรียนไว้ 5 ประการ คือ 1) มีความเป็นผู้นำ (leadership) คือ มีอิทธิพลในตนเองสูงกว่าอิทธิพลอื่น ๆ ของบุคคลในกลุ่ม และสามารถชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานได้ คุณสมบัติด้านนี้ประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ คือ มีความร่าเริง แจ่มใส และอดทน สามารถตัดสินใจและจูงใจคน มีความรับผิดชอบฉลาด และไหวพริบดี มีความอุตสาหะวิริยะ มีความเสียสละ มีบุคลิกภาพดี และมีความเป็นประชาธิปไตย 2) มีมนุษยสัมพันธ์ (human relationship) ผู้บริหารจะต้องทำงานร่วมกับบุคคลอื่นทั้งนอกและในโรงเรียน ดังนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะที่สำคัญ คือ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเสมอต้นเสมอปลาย ยกย่องชมเชย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความยืดหยุ่น เปิดเผย เป็นกันเอง 3) มีความรู้และประสบการณ์ (knowledge and experience) เป็นคุณสมบัติที่เกี่ยวกับงานในอาชีพของผู้บริหาร โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สำคัญยิ่ง เช่น มีความรู้และประสบการณ์ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของงาน และรู้เท่าทันเหตุการณ์ 4) มีคุณธรรมสูง (virtue) คุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้บริหารให้มีพฤติกรรมแต่สิ่งที่ดีงามได้แก่ มีความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความจงรักภักดีและมีศีลธรรม 5) มีสุขภาพดี(healthy) คือ มีสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจดี สุขภาพจะเป็นเครื่องสร้างเสริมการปฏิบัติให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ (วิจิตร วรุตบางกูร และสุพิชญา ธีระกุล, 2523 : 74 -76 )

              2.12 แนวคิดของพนัส หันนาคินทร์ ได้พิจารณาคุณลักษณะที่สำคัญของผู้บริหารการศึกษา และได้จำแนกคุณลักษณะผู้นำของผู้บริหารการศึกษาไว้ 2 ประการคือ 1)คุณลักษณะส่วนตัว ประกอบด้วย ความมีสุขภาพดี ความเฉลียวฉลาด ความประพฤติดี อารมณ์มั่นคง มีความสามารถในการแสดงซึ่งความคิด ความไม่เห็นแก่ตัว ความรู้จักเกรงใจผู้อื่น การมีไหวพริบปฏิภาณดี เป็นต้น 2) คุณลักษณะทางวิชาชีพ ประกอบด้วย 2.1)ความรู้ทางวิชาการ ได้แก่ความรู้ทั่วไป และความรู้ทางวิชาชีพ 2.2)ระดับความรู้ หมายถึง ระดับการศึกษาที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนซึ่งไม่ควรต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ระดับการศึกษานี้เป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถทางสติปัญญาความรู้ที่นำไปประกอบการงานได้พอควร 2.3) ประสบการณ์ ผู้บริหารที่ดีส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำงานหรือผ่านงานต่าง ๆ มาแล้ว ประสบการณ์จะช่วยให้เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ตามความเป็นจริงดีขึ้น 2.4) การฝึกอบรมระหว่างประจำการ ผู้บริหารต้องหมั่นติดตามความเคลื่อนไหวทางการศึกษา เนื่องจากวิชาการและเทคนิคในการทำงานเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอยู่เสมอ กิจกรรมที่ผู้บริหารควรปฏิบัติ ได้แก่ การประชุมทางวิชาการ การสัมมนาการเขียนบทความ การอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิชาการและวิชาชีพ การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระหว่างผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น (พนัส หันนาคินทร์, 2524 : 63 -67 )

            2.13 แนวคิดของนพพงษ์ บุญจิตราดุลย์ได้จำแนกคุณลักษณะของผู้บริหารโรงเรียน 3 ด้าน คือ 1) คุณลักษณะด้านวิชาการ ได้แก่ 1.1)ด้านการศึกษาทางวิชาชีพของผู้บริหาร 1.2) ด้านความรู้ทั่วไปของผู้บริหาร 1.3) ด้านประสบการณ์ของผู้บริหาร 2) คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพของผู้บริหาร ได้แก่ 2.1) บุคลิกภาพทางด้านร่างกาย ประกอบด้วย รูปร่างหน้าตา ความมีชีวิตชีวาร่าเริง การแต่งกาย วาจา ท่าทางการวางตน สุขภาพ 2.2) บุคลิกภาพทางด้านจิตใจและอารมณ์ ประกอบด้วย อุดมการณ์ ความเชื่อมั่นของตนเอง เสียสละ ศรัทธา ความไว ความเห็นอกเห็นใจ ความมีพลัง อดทน ขยัน กล้าหาญกล้าพูด กล้าทำ ตื่นตัวอยู่เสมอ ความมีเมตตาจิต ยุติธรรม อารมณ์มั่นคง มีอารมณ์ขัน มีวินัย2.3) บุคลิกภาพทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ความใจกว้าง บริการช่วยเหลือกว้างขวาง ฐานะทางเศรษฐกิจดีพอสมควร เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และ3)คุณลักษณะด้านความสามารถในการปฏิบัติงาน มีองค์ประกอบดังนี้ ความมีสติปัญญาฉลาดและมีไหวพริบ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การมีส่วนร่วม ความสามารถในการจูงใจคนความสามารถในการตัดสินใจ ความสามารถในการประสานทั้งงานและคน และเคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก่อน (นพพงษ์ บุญจิตราดุล, 2525 : 39 – 40 )

            2.14 แนวคิดของ ทองอินทร์ วงศ์โสธร ได้จำแนกคุณลักษณะผู้นำของครูใหญ่ ออกเป็น 2 ด้าน คือ 1) คุณลักษณะเชิงกายภาพ หมายถึง คุณลักษณะภายนอกของผู้บริหารที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ความสูง ความแข็งแรงของร่างกายรูปร่างหน้าตา น้ำเสียงและฐานะทางการเงิน 2) คุณลักษณะเชิงคุณภาพ หมายถึง คุณลักษณะอันเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ ความสามารถในการบริหารงาน และทักษะทางสังคม ได้แก่ ความทะเยอทะยาน ความเชื่อมั่นในตนเอง ความซื่อสัตย์ ความกล้าได้กล้าเสีย ความสามารถในการใช้อำนาจเหนือคนอื่น ความทนอยู่ในความคับข้องใจ ความสามารถในการพูด ความเป็นผู้รอบรู้ความสามารถในการตัดสินใจ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความเห็นอกเห็นใจ ความมีมนุษยสัมพันธ์ ความเฉลียวฉลาด และความรับผิดชอบ (ทองอินทร์ วงศ์โสธร, 2535 : 88 -89 )

              2.15 แนวคิดของรุ่ง แก้วแดง ได้กล่าวถึงภาพลักษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปโดยผู้บริหารโรงเรียนยุคใหม่จะต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้ 1) ความเป็นผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง 2) เป็นผู้จัดการที่เฉียบแหลม 3) เป็นผู้ประสานชุมชนที่ดี 4) เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่เชี่ยวชาญ และ5) เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองอนาคตของโรงเรียนในทางสร้างสรรค์ (รุ่ง แก้วแดง, 2541 : 278 )

         2.16 แนวคิดของธงชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ได้ศึกษารวบรวมกล่าวถึงผู้บริหารมืออาชีพ สรุปได้ว่า จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ความมีวิสัยทัศน์ (ธงชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, 2540 : 35 )

         2.17 แนวคิดของเกษม วัฒนชัย กล่าวถึงผู้บริหารการศึกษามืออาชีพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คำว่ามืออาชีพ (Professional) และคำว่า ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ซึ่งความเป็นมืออาชีพจะมีเงื่อนไขอยู่ 2 ประการคือ 1) ต้องได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานของวิชาชีพนั้น ๆ (To be trained according to professional standard) 2)ต้อง common respect ต้องประพฤติปฏิบัติตนจนกระทั่งได้รับความเคารพจาก 2 ฝ่าย คือ จากสมาชิกวิชาชีพเดียวกันและจากประชาชนทั่วไป ดังนั้น ถ้าต้องการมีความเป็นมืออาชีพ มีเงื่อนไข 2 ประการ คือ ต้องฝึกอบรมในวิชาชีพนั้น ๆ และต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคน 2 ฝ่าย คือจากเพื่อนนักบริหารเองและจากประชาชนทั่วไป (เกษม วัฒนชัย, 2545 : 84 )

            2.18 แนวคิดของอุทัย เดชตานนท์ ได้ให้ทรรศนะว่า นักบริหารมืออาชีพ มีข้อพิจารณาที่จะต้องเปิดกว้างใน 3 ประเด็น คือ 1) นักบริหารมืออาชีพ ต้องกล้าที่จะเสนอตนเองพิสูจน์ผลสำเร็จจากการทำงานของตนเสมอ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมิใช่แสดงบทฉาบฉวยเฉพาะในเชิงประชาสัมพันธ์โดยไร้การพิสูจน์อย่างจริงจัง 2)นักบริหารมืออาชีพ ต้องไม่อาศัยเกราะกำบัง หรือบารมีใด ๆ เข้าช่วยผลสำเร็จจากการทำงานจะต้องพิสูจน์ได้ว่า ทำได้ด้วยฝีมือ มิใช่ด้วยการอาศัยบารมีผู้อื่น หรือด้วยเล่ห์กระเท่ทางการเมือง จนทำให้เกิดปัญหาด้านจรรยาบรรณขึ้นในอีกด้านหนึ่ง 3) นักบริหารมืออาชีพ ไม่ควรอยู่ในภาวะของเด็กหัดเดินหรืออยู่ในระหว่างทดลอง หรือไร้การประเมินในสภาพไม่ต่างกับกฤษณาสอนน้องที่มีแต่ข้อยกเว้นตลอดเวลา ดังนั้น ความจริงในการเอาตัวเองเข้าเสี่ยงในผลสำเร็จหรือล้มเหลว จึงต้องเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะต้องมีพร้อม เช่น เถ้าแก่ หรือ เจ้าของกิจการทั้งหลาย ที่ต่างต้องเอาผลประโยชน์ของตนเองและครอบครัวเข้าเสี่ยงอย่างเต็มที่โดยเต็มภาคภูมิ (อุทัย เดชตานนท์, 2545 : 58 )

            2.19 แนวคิดของธีระ รุญเจริญ ได้เสนอลักษณะนักบริหารการศึกษามืออาชีพที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารและการจัดการศึกษา ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย 1) ลักษณะพื้นฐานธรรมชาติเดิมเป็นทุน คือ เป็นผู้นำตามธรรมชาติ มีความถนัด (attitude) ในการเป็นผู้นำ มีลักษณะนิสัยในการร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น ร่วมทำงานและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ 2) การศึกษามีวุฒิปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษาขึ้นไปครอบคลุมเนื้อหาสาระในด้านการบริหาร ด้านจิตวิทยาการทำงานกับคนอื่นด้านพื้นฐานการศึกษาค้นคว้าวิจัย ด้านบริบททางการบริหารการศึกษา เช่น ระเบียบ กฎหมายสังคมวิทยา ปรัชญา เศรษฐกิจ การปกครอง 3) บุคลิกภาพน่าเชื่อถือ เป็นบุคคลที่มีน้ำเสียงการพูดน่าฟัง เข้าใจง่าย มีอารมณ์มั่นคง (Emotional Quotient :EQ) มีความเข้มแข็งแต่ถ่อมตน มีกิริยามารยาทเป็นที่ยอมรับของสังคม มีการแต่งกายสอดคล้องกับกาลเทศะ 4) คุณธรรมจริยธรรมมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลง ยึดระบบคุณธรรมเป็นที่ตั้ง มีความโปร่งใส ยุติธรรมซื่อสัตย์ ไม่คอร์รัปชั่น อดทน อดกลั้น รับทั้งผิดและชอบ เสียสละ เป็นคนดีของสังคม 5) ความสามารถและชำนาญในด้านการบริหารและจัดการศึกษาตามหลักวิชาและการปฏิบัติ นำองค์การไปสู่เป้าหมาย โดยยึดองค์คณะบุคคล มีส่วนร่วมส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีมประสานงานเพื่อผลงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนเทคนิค เพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง 6) ความรู้ลึกและรู้รอบในด้านการบริหาร/จัดการ การจัดการศึกษา ระเบียบ กฎหมายบริบททางสังคม การวิจัย จิตวิทยา การบริหาร 7) การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันการบริหารที่มีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล เพื่อจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ( ธีระ รุญเจริญม 2543 : 75 )

         2.20 แนวคิดของสมชาย เทพแสง ได้กล่าวถึงผู้บริหารมืออาชีพซึ่งมีลักษณะของผู้บริหารที่ได้พิจารณาจากผู้มีความสามารถและจากประสบการณ์ จะมีลักษณะ 20 P ดังนี้ 1) psychology ผู้บริหารต้องมีจิตวิทยาในการบริหารคน รู้นิสัยใจคอของลูกน้องเป็นอย่างดี ที่เรียกว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษานิสัยใจคอของแต่ละคนว่าเป็นคนอย่างไร คือจะไปบริหารใครต้องวิเคราะห์เขาก่อนเป็นอันดับแรก 2) personality มีการแต่งกายที่ดี บุคลิกภาพที่ดีการเดินที่สง่าผ่าเผย ตลอดจนการพูดจามีหลักเกณฑ์น่าเชื่อถือ การยิ้มแย้มแจ่มใส มีอัธยาศัยไมตรีเป็นสิ่งสำคัญทำให้เกิดความประทับใจ บุคลิกภาพจึงมีส่วนสำคัญรวมทั้งการวางตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่การงาน มารยาทต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงทุก ๆ ด้าน 3) pioneer ต้องเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกกล้าได้กล้าเสีย โดยเฉพาะสถานศึกษาใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่นิยม ผู้บริหารต้องวางแผนนิยมผู้บริหารต้องวางแผนเชิงรุกเพื่อให้คนยอมรับศรัทธา ต้องเหน็ดเหนื่อยมานะอดทนเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 4) poster การทำงานต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ แม้จะเป็นงานเล็กแต่เราก็เอาจุดเด่นของงานมาตีแผ่ จะช่วยทำให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น การประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือมุขปาฐะ (mouth to mouth) 5) parent ผู้บริหารต้องเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ต้องมีพรหมวิหารธรรม 4 คือ มีเมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง วางตัวเป็นกลาง ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายเสมอหน้า สร้างสังคมให้เป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นสามัคคีกลมเกลียว 6) period ผู้บริหารต้องเป็นคนตรงเวลา การทำงานตรงเวลาสะท้อนให้เห็นว่าเป็นคนซื่อสัตย์ได้ทางหนึ่ง และเป็นตัวอย่างลูกน้องได้อีกด้วย 7) pacific ผู้บริหารต้องมีความสุขุม รอบคอบ ใจเย็น มีกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม สำนวนอังกฤษว่า a snake in the grass เหมือนกับเสือซ่อนเล็บหรือคมในฝัก ทำให้คนอื่นไม่สามารถรู้จิตใจเราได้ว่าคิดอะไร ทำอะไร การทำงานที่สุขุมรอบคอบทำให้งานดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าประมาท งานก็อาจจะเสียหายได้ในภายหลัง 8) pleasure ผู้บริหารต้องมีอารมณ์ขันแก้สถานการณ์ในช่วงที่ตึงเครียดได้ คนที่มีอารมณ์ขันจะช่วยให้คนอื่นไว้วางใจ ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจได้ ตลอดจนการทำงานเป็นไปด้วยความสุขไม่เคร่งเครียด 9) prudent การมองการณ์ไกลหรือวิสัยทัศน์ ทำให้เราเป็นผู้ทันสมัยอยู่ตลอด ผู้บริหารจำเป็นต้องมี เพราะการคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ความผิดพลาดจะน้อยลง 10) principle การทำงานของผู้บริหารต้องยึดหลักการเป็นหลัก รวมทั้งทฤษฎีต่าง ๆ ที่สามารถอ้างอิง หรือพิสูจน์ได้ นอกจากนี้ควรมีเหตุผลประกอบการชี้แจงได้ 11) perfect งานที่เกิดขึ้นต้องให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ครบถ้วน ถูกต้องและมีการตรวจสอบ ประเมินผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นคุณภาพของงานเป็นหลัก 12) point งานที่ทำต้องมีวัตถุประสงค์แน่นอนชัดเจนสามารถดำเนินไปอย่างมีทิศทางเหมือนหางเสือที่บังคับให้เรือเดินไปอย่างถูกต้องแม่นยำ 13) plan งานที่ทำต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและพึงระลึกอยู่เสมอว่า “งานใดก็ตามถ้ามีการวางแผนงาน งานนั้นสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง”14) pay ต้องมีการกระจายงานอย่างทั่วถึง และให้รางวัลบุคคลที่ทำผลงานดีเด่น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคคลที่สร้างสรรค์ผลงานให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรมุ่งทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไป 15) participation ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน ทำให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของงาน พร้อมใจที่จะช่วยงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ 16) pundit ต้องมีความรู้เรื่องที่ทำอย่างชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้ 17) politic ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครอง บางครั้งต้องทำตนเหมือนนักการเมืองเข้ากับคนได้ทุกชั้น ตลอดจนลู่ลมบ้างอย่าแข็งเกินไป 18) poet ต้องมีความสามารถด้านสำนวนโวหาร เพราะถ้ามีความสามารถด้านการเขียน จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจากคนอื่น 19)perception ต้องมีความสามารถในการหยั่งรู้ คาดการณ์ ตรวจสอบ และทบทวนสิ่งที่คาดการณ์ไว้ตลอดจนบันทึกเหตุการณ์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นและเลือกใช้อย่างเหมาะสม 20)psycho ต้องมีจิตวิญญาณของนักบริหาร เป็นผู้มีความรักในอาชีพครู เป็นผู้บริหารที่มีอุดมการณ์และปณิธานที่แน่วแน่ ในการแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนการปฏิรูปสังคมโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ผู้บริหารต้องรักในศักดิ์ศรีในสถาบันของตนเอง ไม่ดูถูกดูแคลนอาชีพของตนเอง และพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยตลอดจนจรรยาบรรณในอาชีพของตน (สมชาย เทพแสง,2543 : 25 -30 )

        2.21 แนวคิดของบุญชัย พิทักษ์ดำรงกิจ ได้กล่าวถึงผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์ว่า ผู้นำที่ดีต้องมีคุณลักษณะการเป็นผู้นำ 9 ประการ คือ 1) ความซื่อสัตย์ คือ ความตั้งใจดำเนินงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหะวิริยะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การที่กำหนดไว้ 2) ความน่าเชื่อถือ เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่มีต่อบุคคล หรือต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความน่าเชื่อถือที่มีต่อตัวผู้นำเกิดจากความรู้ ความสามารถ ความมีศีลธรรม การปรับตัว ความสุขุมรอบคอบ และความเป็นมิตรของผู้นำ ฯลฯ 3) ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องคำนึงเสมอว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คนที่มีปัญหาไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดสามารถแก้ไขและปรับพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมได้ คนจะทำงานได้ดีหรือไม่ดีอยู่ที่การสอนงาน การชี้แนะและการจูงใจให้ยอมรับหลักการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานก่อน การมองคนในแง่ดีทำให้คนมีกำลังใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล 4) ความมีเหตุผล ผู้นำต้องเป็นคนรอบรู้ที่เกิดจากการคิด วิเคราะห์ข้อมูลที่รับมาจากการฟัง การอ่าน และตรวจสอบแหล่งข่าวข้อมูลอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้ความคิดเกิดจากเหตุโยงไปหาผลและการคิดจากผลสาวกลับไปหาเหตุ ผู้นำเป็นผู้รู้เท่าทันเหตุการณ์ เมื่อจะสั่งการแต่ละครั้งต้องคาดได้ว่าผลอะไรตามมา หรือเมื่อเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นในองค์การต้องสามารถบอกได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร 5) ความรับผิดชอบ แนวคิดในปัจจุบันถือว่าความเป็นผู้นำเกิดจากการพัฒนาบุคคล มิใช่เกิดจากคุณสมบัติส่วนตัวของผู้นำเองพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเป็นผู้นำ คือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือคำพูดและการกระทำเป็นพฤติกรรมที่สำคัญของผู้นำที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้นำ หากผู้นำขาดพฤติกรรมนี้ จะทำให้ผู้ร่วมงานหรือ ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่อุทิศตนเองให้กับงานอย่างเต็มที่หรือไม่ใช้ขีดความสามารถในตัวเองทั้งหมดให้กับการทำงาน 6)ความสามารถที่พึ่งพาได้ เป็นความสามารถมาทำงานในองค์การและความสามารถในการก่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในองค์การ งานที่สำเร็จลงได้มิใช่ด้วยความสามารถหรือความเก่งของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยคนทุกคน ผู้นำจึงต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของความสามารถของทุกคนในองค์การ คือ ทำให้ผู้ร่วมงานทุกคนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างดี 7) ความเปิดเผย จะสะท้อนถึงความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผู้นำต้องแสดงให้ผู้ร่วมงานเห็นความจริงใจและในฐานะที่ปรึกษาแนะนำ เพื่อให้ผู้ร่วมงานมีอิสระที่จะพูดด้วยความรู้สึกที่แท้จริง ความเปิดเผยจึงมีความสำคัญต่อผู้นำและผู้ร่วมงาน ที่ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาร่วมกัน 8) ความคิดสร้างสรรค์ จะพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในแง่ความเป็นไปได้และมองโลกในแง่ดี ผู้นำจะแสดงให้เห็นได้ว่าสิ่งต่าง ๆ มีความเป็นไปได้อย่างเป็นจริง ไม่ใช่อย่างเพ้อฝันและสามารถแยกแยะความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆได้ชัดเจน 9) ความสามารถในด้านการทำงานของตนเอง ผู้นำต้องมีความรู้อย่างแท้จริงในงานที่ทำนั้น (บุญชัย พิทักษ์ดำรงกิจ, 2540 : 28 – 30 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น