วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 2

 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
          การบริหารองค์การทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรการบริหารหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นคน เงิน วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการบริหารจัดการ ในบรรดาทรัพยากรที่กล่าวมานี้ ทรัพยากร “คน” นับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการบริหาร ทั้งนี้เพราะคนเป็นทั้งผู้ที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพยากรการบริหาร รวมถึงเป็นผู้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ด้วย เป้าหมายสำคัญของการบริหารองค์การอยู่ที่ประสิทธิผลของงาน ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าขององค์การ ในขณะเดียวกันก็จะต้องรักษากำลังคน และบรรยากาศการทำงานที่ดีไว้ด้วย ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลขององค์การมากปัจจัยหนึ่ง คือ ผู้บริหารองค์การ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการดำเนินการ ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาและริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นบุคคลที่ผูกพันกลุ่มเข้าด้วยกันกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความสามารถได้สูงสุด เพื่อสร้างผลงานให้เต็มที่ และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จด้วยดี อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการบริหารงานเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างบุคลากรในองค์การ ภายใต้การนำของผู้บริหารในองค์การนั้นๆ ดังนั้น การที่องค์การใด ๆ ก็ตามจะประสบความสำเร็จและพัฒนาไปได้ด้วยดีจำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารองค์การที่มีความสามารถมีภาวะผู้นำสูงและสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารองค์การจะทำหน้าที่บริหารงานต่าง ๆ ในองค์การให้ดำเนินไปด้วยความพร้อมเพรียงและมีประสิทธิภาพให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วเรียบร้อย ประหยัดกำลังคน กำลังทรัพย์ และบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ความเจริญก้าวหน้าขององค์การ นอกจากขึ้นอยู่กับผลงานโดยส่วนรวมของทุกฝ่ายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับผู้บริหารองค์การอีกด้วย เพราะผู้บริหารองค์การเป็นผู้แสดงพฤติกรรมที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนปฏิบัติงานเต็มความสามารถ ด้วยความพึงพอใจมีความสุขกับหมู่คณะและอาชีพของตน (วิจิตร วรุตบางกูร,2521 : 14 -18 ) ผู้บริหารองค์การจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์การ ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและต่อผลงานโดยส่วนรวม นอกจากนี้ผู้บริหารองค์การต้องอาศัยการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการบริหารงานและบริหารคนให้ได้ทั้งงานและน้ำใจ ความร่วมมือและการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างความสำเร็จของการบริหารงาน การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถได้นั้นขึ้นอยู่กับสมรรถภาพในการนำและการแสดงพฤติกรรมผู้นำของผู้บริหาร ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าผู้บริหารองค์การและผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นองค์ประกอบสำคัญขององค์การที่มีประสิทธิภาพ

               ในองค์การทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในภารกิจด้านการจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้น ๆ ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องดำเนินการ และจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้สถานศึกษาดำรงคงอยู่และเจริญก้าวหน้า ( เสริมศักดิ์ วิศาลภรณ์, 2525: 49 ) ภารกิจดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทีมงานให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งสร้างรูปแบบการจัดองค์การที่ดีเอื้อต่อการปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจวิธีการและกระบวนการทำงานเพื่อให้งานสำเร็จได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกัน ให้สมาชิกมีความไว้วางใจ ยกย่องนับถือซึ่งกันและกันและให้ความร่วมมือกับผู้บริหารด้วยดี (วิจิตร วรุตบางกูร,2521 : 15 ) ในการศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษานั้น เป็นการค้นหาคุณลักษณะผู้นำที่ดีและเอื้อต่อความสำเร็จนับว่าเป็นที่สนใจในหมู่นักวิชาการต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อต้องการที่จะหาข้อสรุปว่า ผู้นำที่ดีหรือผู้นำที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรมีคุณลักษณะอย่างไร และผู้นำที่มีลักษณะแตกต่างกันจะส่งผลต่อความสำเร็จแตกต่างกันหรือไม่ดังเช่น วูดส์ (Woods) ได้ทำการศึกษาผู้นำประเทศ จำนวน 14 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ โดยได้แบ่งระดับของลักษณะเป็น 3 ระดับ ได้แก่ เข้มแข็ง(strong) ธรรมดาสามัญ (mediocre) และอ่อนแอ (weakness) สัมพันธ์กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ผลปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผู้นำประเทศที่เข้มแข็งสามารถบริหารให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ผู้นำที่ธรรมดาสามัญก็นำประเทศไปได้ระดับกลาง ๆ ส่วนผู้นำที่อ่อนแอก็จะทำให้ประเทศไม่เจริญรุ่งเรือง ( ทองหล่อ เดชไทย, 2544 : 11 ) จากผลการวิจัยจะเห็นว่าคุณลักษณะของผู้นำที่แตกต่างกันส่งผลต่อความสำเร็จได้แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกมากมายที่พยายามแสวงหาคุณลักษณะของบุคคลและภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ดังเช่น สต็อกดิลล์ (Stogdill)ได้ทดสอบเกี่ยวกับคุณลักษณะภาวะผู้นำทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความฉลาดและความสามารถพิเศษ (intelligence and aptitude) บุคลิกภาพ (personality) การจูงใจในงานและผลการปฏิบัติงาน(task motivation and performance) และทักษะทางสังคม (social competence) ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นผู้นำนั้นมีคะแนนคุณลักษณะดังกล่าวสูงกว่าผู้ตามอย่างมีนัยสำคัญ ผลงานวิจัยยังพบอีกว่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะมีความฉลาด รู้สึกไวต่อความต้องการและความตั้งใจของผู้อื่น เข้าใจสถานการณ์ได้อย่างดี พร้อมทั้งมีอุปนิสัยที่จำเป็น เช่น มีความรับผิดชอบ (responsibility) มีความคิดสร้างสรรค์ (initiative) มีความมุ่งมั่น (persistence) และมีความมั่นใจในตนเอง(self – confidence) อีกด้วย ผลการวิจัยยังทำให้ได้ทราบอีกว่าผู้นำที่ดี จะมีความสามารถในการจัดระเบียบงาน มีความกระฉับกระเฉงในการให้ความร่วมมือโดยมีแรงผลักดันอันแรงกล้าต่อความรับผิดชอบและการทำงานให้สำเร็จ มีชีวิตชีวา และมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าประสงค์ มีความกล้าหาญ และมีความคิดริเริ่มในการแก้ปัญหา มีแรงผลักดันในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสถานการณ์ทางสังคม มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีเอกลักษณ์ส่วนตัว รับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตน เต็มใจรับผลกระทบจากการตัดสินใจและการกระทำ พร้อมในการดูดซึมความเครียด พร้อมที่จะทนต่อความอึดอัดและความล่าช้า พร้อมที่จะเผชิญกับภาวะกดดัน มีความสามารถในการกระตุ้นพฤติกรรมผู้อื่น และสามารถจัดโครงสร้างระบบสังคมตามที่ต้องการ

     คุณลักษณะดังกล่าวเหล่านี้จะช่วยแยกแยะระหว่างผู้นำออกจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้นำ และแยกผู้นำที่มีประสิทธิภาพจากผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ (M.R. Stogdill , 1974 : 75 – 76.) คุณลักษณะผู้นำจึงมีผลต่อภาวะผู้นำ และที่สำคัญคุณลักษณะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความล้มเหลวหรือความสำเร็จขององค์การได้อีกด้วยดังที่ เมอเซย์ และ ดัคลาส (Massie and Douglas) ได้เสนอความเห็นว่า ผู้บริหารเป็นผู้ที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานขององค์การให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (L. J. Massie and J. Douglas, 1981 : 58 – 59. ) นอกจากนี้บาร์โทลและคนอื่น ๆ (Bartol and others) ได้เสนอความเห็นว่า ผู้บริหารเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อองค์การทั้งในลักษณะเป็นศูนย์รวมประสาท เป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร และเป็นศูนย์รวมของการตัดสินใจขององค์การ โดยแสดงออกในบทบาทต่าง ๆ กัน เช่น บทบาทในเชิงสัมพันธ์บุคคล บทบาทเชิงสารสนเทศ และบทบาทเชิงตัดสินใจ (Bartol and others, 1998 :111 – 112.)องค์การใดก็ตามที่ผู้นำมีคุณลักษณะที่ดี และใช้ภาวะผู้นำได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมนำพาองค์การไปสู่ความสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามหากผู้นำที่ไม่มีคุณลักษณะในการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพแล้วเป็นไปได้ยากที่จะนำพาองค์การไปสู่ความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าได้

              ในการบริหารการศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยผู้นำที่มีคุณลักษณะที่เอื้อต่อความสำเร็จ หรือกล่าวอีกอย่างว่า ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีคุณลักษณะที่ส่งผลต่อความมีประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาถือว่าเป็นผู้นำในการจัดการศึกษาในระดับสถานศึกษาและเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา ดังนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุจุดมุ่งหมาย ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นจะต้องมีศักยภาพ สมรรถภาพ และคุณลักษณะที่เอื้อต่อการจัดการศึกษา ( ธีระ รุญเจริญ, 2545: 4 ) ความสำเร็จหรือการบรรลุจุดมุ่งหมายของการศึกษา ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ย่อมต้องอาศัยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นหลักโดยเฉพาะตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติที่เน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาและชุมชนโดยยึดหลักให้สถานศึกษาเป็นฐานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับปฏิบัติให้มากที่สุด จะส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษามีอิสระในการบริหารงานอย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องการผู้บริหารสถานศึกษาในลักษณะใหม่ที่มีความสามารถ มีทักษะแบบใหม่ เพื่อนำสถานศึกษาสู่เส้นทางใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา จากการที่มีการกระจายอำนาจและภารกิจสู่สถานศึกษาอย่างมากมายเช่นนี้เท่ากับเรียกร้องให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทั้งในด้านการบริหารวิชาการการบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารทั่วไป รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะจำเป็นจะต้องมีการทำงานร่วมกันและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น