วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 3

      ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาในประเทศไทย พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดคุณลักษณะในการเป็นผู้นำซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับสถานศึกษาและการศึกษาโดยรวมเป็นอย่างมาก ข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยที่บ่งบอกว่าผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานยังขาดคุณลักษณะในการเป็นผู้นำ เช่น ขาดความรู้ และความสนใจในด้านวิชาการ ขาดคุณธรรม และจริยธรรม (ธีระ รุญเจริญ, 2545: 4 – 5 ) และปัญหาสำคัญก็คือปัญหาอันสืบเนื่องมาจากบุคลากรที่ทำหน้าที่บริหารการศึกษา เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาขาดความยุติธรรม ผู้บริหารสถานศึกษานำเรื่องส่วนตัวมาปะปนกับอำนาจหน้าที่ของตน และผู้บริหารสถานศึกษาบางคนขาดความรู้และประสบการณ์ทางการศึกษา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการมีผู้รับผิดชอบทางการศึกษาหลายฝ่ายทำงานซ้ำซ้อน ขาดการประสานงานที่ดี และอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูง ทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการทำงาน ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2520 : 52 – 59 ) และจากการประเมินพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ยังพบว่าผู้บริหารสถานศึกษา ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คะแนนด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงคะแนนด้านความเป็นผู้นำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอีกด้วย ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2542 : 74 – 75 ) สำหรับการบริหารการศึกษาท้องถิ่นก็ประสบปัญหาและอุปสรรคมากมายเช่นเดียวกัน แม้จะได้มีผู้พยายามจัดทำ ปรับปรุง และแก้ไขตลอดมาก็ตาม แต่ก็ยังไม่บรรลุผลดีเท่าที่ควร

         นอกจากนี้ ผู้บริหารสถานศึกษายังมีบทบาทหน้าที่สำคัญที่หลากหลายซึ่งบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะได้รับอิทธิพลจากหลักการ แนวคิด หรือทฤษฎีทางการบริหารที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกันดังที่วิโรจน์ สารรัตนะ ได้ศึกษาวิเคราะห์หลักการแนวคิดและทฤษฎีทางการบริหารที่เป็นกระบวนทัศน์ทางการบริหารใหม่ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาในยุคสมัยปัจจุบันจะมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวพันกับการเสริมสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในสถานศึกษาอย่างน้อยในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ คือ การเสริมสร้างความมีประสิทธิผลของโรงเรียน การเสริมสร้างความเป็นองค์การวิชาชีพ การเสริมสร้างการตัดสินใจร่วมและการมีวิสัยทัศน์ร่วม การเสริมสร้างกลุ่มบริหารตนเอง การเสริมสร้างการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การเสริมสร้างการจูงใจเพื่อการสร้างสรรค์ การเสริมสร้างความเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศองค์การในทางบวก การเสริมสร้างกระบวนการบริหารเพื่อการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม การเสริมสร้างกระบวนการบริหารหลักสูตรและการสอนที่มีประสิทธิภาพ และการเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เต็มศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด (วิโรจน์ สารรัตนะ, 2545 : 7 ) จะเห็นได้ว่าผู้บริหารสถานศึกษานับเป็นกลไกสำคัญและมีอิทธิพลสูงต่อ (1) คุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้จากระบบการศึกษา (2) ประสิทธิภาพของการบริหารการศึกษา และ(3)ประสิทธิผลขององค์การทางการศึกษา( ประสิทธิ์ เขียวศรี, 2544 : 4 ) ดังที่ ถวิล มาตรเลี่ยม ได้กล่าวไว้ว่าผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาลงความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ว่า “ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาและผลสำเร็จของโรงเรียน” (ถวิล มาตรเลี่ยม,2545 : 105 ) สอดคล้องกับคำกล่าวของ เฟร็ดเอ็ม.เฮ็ชชิงเกอร์ (Fred M. Hechinger) ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “Effective Principal Effective School” ของ ลิพแฮม (Lipham) ดังนี้ “ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นโรงเรียนที่เยี่ยมแต่ผู้บริหารแย่ และไม่เคยเห็นโรงเรียนแย่แต่ผู้บริหารเยี่ยม และเป็นที่น่าเสียดายเช่นเดียวกันก็เห็นโรงเรียนยอดเยี่ยมเสื่อมถอยไปในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งความเจริญรุ่งเรืองและการเสื่อมถอยในแต่ละกรณีล้วนมีสาเหตุจากคุณภาพของผู้บริหาร” (M. J. Lipham, 1981 : 68 – 69.)

    จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีผู้กล่าวถึงไว้อย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม ในบรรดาความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาที่กล่าวถึงนี้ ถือว่าคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการศึกษาของประเทศ และควรมีการศึกษาวิจัยให้มากขึ้น ทั้งเพื่อเป็นการสร้างสรรค์องค์ความรู้และเพื่อการพัฒนา ซึ่งจากประเด็นนี้ในทางปฏิบัติในประเทศไทยโดยเฉพาะในโรงเรียนสังกัดเทศบาลและเมืองพัทยา ยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และตัวชี้วัดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือและตัวชี้วัดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพว่าเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และ ตัวชี้วัดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาของประเทศดังที่กล่าวข้างต้น

      จากหลักการและแนวคิดข้างต้นที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทและมีความสำคัญในการสนับสนุน และส่งเสริมให้บุคลากรในโรงเรียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาวิจัยถึงคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพและตัวชี้วัดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาที่สอดคล้องเหมาะสมกับแนวโน้มและพัฒนาการของวิชาชีพและสังคม และพัฒนาเครื่องมือและตัวชี้วัดคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งย่อมจะมีผลต่อการพัฒนาประสิทธิผลและประสิทธิภาพของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะนำมาสู่ความมีคุณภาพของการผลิตผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพสู่สังคมไทยสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น