วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 1

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ


            ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ การศึกษานับว่ามีบทบาทและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศเนื่องจากความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ของคนในชาติประเทศที่พลเมืองมีการศึกษาดีย่อมได้เปรียบในการแข่งขันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม ( ไพบูลย์ แจ่มพงษ์, 2542 : 2 – 12 ) ด้วยเหตุที่การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาจึงเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองของคนเรา คนที่ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมก็คือคนที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรมและได้รับสิ่งดี ๆ การศึกษามิใช่เป็นเพียงการใช้ชีวิตระยะเวลาหนึ่งในโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นเหมือนปัจจัยในการดำรงชีวิตที่ทุกคนแสวงหาและเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว หน้าที่การงาน ตลอดจนความก้าวหน้า และความมั่นคงของประเทศ ยิ่งในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็วในกระแสโลกาภิวัตน์ที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ไปจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมใหม่ ๆ มาสู่สังคมไทย การศึกษายังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้คนมีหลักคิด รู้จักใคร่ครวญ เลือกสรร ปรับตัวกับเหตุการณ์ และสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาสู่ชีวิตตลอดเวลา ระบบการศึกษาจะต้องตอบสนองการทำงานในยุคข้อมูลข่าวสาร การสอนต้องส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมากกว่าที่เป็นมาในอดีต บทบาทของผู้บริหารโรงเรียนและผู้สอนจะต้องเปลี่ยนแปลง ( สมศักดิ์ สินธุระเวชญ์, 2541 : 30 – 31 )

         ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการบริหารและการจัดการศึกษาและมีคุณลักษณะที่สำคัญทั้งในด้านวิชาชีพและส่วนตัว เพื่อจัดดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2545ข : 1 – 4 ) ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ การบริหารกิจการใด ๆ เกี่ยวกับสาธารณะมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารมืออาชีพ จึงจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เหล่านั้นดำเนินการไปด้วยดี และบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไร้พรมแดน และกระทบกระเทือนไปทุกประเทศทั่วโลก ตามแนวทางพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 53 ได้กำหนดให้ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาจะปฏิบัติหน้าที่ได้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการบริหารการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่องค์กรวิชาชีพครูผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษากำหนด ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพชั้นสูง นั่นคือ จะต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ( ธีระ รุญเจริญ, 2545 : 13 ) ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องดำเนินการบริหารเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามแนวทาง หลักการและมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และนำไปสู่การบรรลุผลตามการปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management : SBM) การประกันคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา การบริหารโดยองค์คณะบุคคลการประเมินภายใน และการประเมินภายนอก และการที่จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นมืออาชีพและเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งจำต้องมีสมรรถภาพทั้งความรู้ ทักษะ และมีคุณธรรมจริยธรรม ตลอดทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพ จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2545ข : 8 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น