วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คุณลักษณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ตอนที่ 4

     แนวคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพของนักวิชาการต่างประเทศ ประกอบด้วย

           1.1 แนวคิดของทีด (Tead) มีความเห็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำ คือ 1) มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ 2) มีความเข้าใจในวัตถุประสงค์และความมุ่งหมาย 3) มีความเข้าใจในด้านมนุษยสัมพันธ์ 4) มีความกระตือรือร้น5) มีความสามารถในการตัดสินใจและตกลงใจ 6) มีความฉลาด และ7) มีความเชื่อมั่นในตนเอง (Ordway Tead, 1935 : 83. )

           1.2 แนวคิดของเครทอน (Kreitton) ได้แยกแยะคุณลักษณะผู้นำละเอียดมากขึ้น โดยเน้นว่าลักษณะผู้นำที่ดี ต้องประกอบด้วยบัญญัติ 21 ประการ คือ 1) ต้องมีความรู้ดี 2) มีลักษณะจูงใจผู้พบเห็น3) มีใจเยือกเย็นเมื่อประสบปัญหา 4) นอบน้อม 5) ตัดสินปัญหาทันท่วงที 6) เป็นกลางโดยไม่เอนเอียง 7) เปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ 8) มีความกล้าหาญ 9) เป็นผู้ร่าเริงมองโลกในแง่ดี10) เตรียมใจที่จะรับงานหนัก 11) มีอารมณ์มั่นคง 12) มีเมตตาจิต 13) เป็นผู้มีความกระตือรือร้น14) เสมอต้นเสมอปลาย 15) สามารถคุมการประชุมและแนะนำความคิด 16)รักงานที่ทำ17)ไม่หมด กำลังใจง่าย ๆ 18) มีความสามารถทำงานได้ดีมากกว่าหนึ่งสิ่ง 19)มีพลังแห่งความคิดคำนึง 20)ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา และ21) ต้องมีศีลธรรม ( Burton W. Keriton, 1960 : 81 )

           1.3 แนวคิดของซาซส์ (Sachs) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับลักษณะของผู้บริหารที่ดี ซึ่งเกี่ยวกับตัวของผู้บริหารเองไว้ว่า 1) ต้องมีความเข้าใจตนเอง และสามารถประเมินค่าตนเองได้อย่างถูกต้อง 2) ต้องยอมรับฟังและเคารพความคิดของผู้อื่น 3) ต้องมีความเข้าใจในสถานภาพของผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี และ4)ต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต้องสามารถนำความคิดของผู้ร่วมงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของตน ( Benjamin M. Sachs, 1966 : 3 -4 )

             1.4 แนวคิดของบาร์นาร์ด (Barnard) ที่กล่าวว่า คนที่จะเป็นผู้นำ มีความจำเป็นที่จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งจะขาดเสียมิได้ 5 ประการ คือ 1) ความมีชีวิตชีวาและอดทน (vitality and endurence)หมายถึง ความร่าเริงแจ่มใส ความตื่นตัว คล่องแคล่วว่องไว สามารถปรับตัวได้ดี ทำงานต่อเนื่องกันได้นาน ๆ มีความอดทนไม่ท้อแท้ 2) ความสามารถในการตัดสินใจ (decisiveness)หมายถึง ความเชื่อมั่นในการตัดสินใจได้รวดเร็ว ถูกต้อง และเต็มใจที่จะตัดสินใจโดยไม่ทำให้กลุ่มผู้ร่วมงานยุ่งยากใจ 3) ความสามารถในการจูงใจคน (persuasiveness) หมายถึง ความสุจริตใจแก่ผู้ร่วมงาน วางตัวให้ผู้อื่นเลื่อมใส และมีความสามารถในการพูดและการเขียน 4) ความรับผิดชอบ(responsibility) หมายถึง ความมีคุณธรรม ศีลธรรม รู้จักรับผิดชอบเมื่อผิดพลาด รับคำตำหนิโดยเต็มใจ มีความมานะบากบั่น ไม่ท้อถอยในการปฏิบัติหน้าที่ 5) ความฉลาดมีไหวพริบ(intellectual capacity) หมายถึง ความเฉียบแหลม มีความรู้ทันโลก ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ (Chester I. Barnard, 1968 : 21 -22 )

            1.5 แนวคิดของสแตทและคนอื่น ๆ (Stadt and others) ได้สรุปว่า ลักษณะผู้นำที่ดี มีดังนี้ 1) คำนึงถึงมาตรฐานในการทำงาน 2) เป็นที่พึ่งของคนอื่น 3) มีความกล้า กล้าที่จะคิด กล้าที่จะเสี่ยง4) มีความรับผิดชอบ 5) มีความสามารถที่จะแบ่งงานให้ผู้อื่นช่วยปฏิบัติ 6) มีวินัยในตนเอง 7) มีวิสัยทัศน์ 8) มีมนุษยสัมพันธ์ดี 9) มีความสามารถในการสื่อความคิด 10) แข็งแรงและมีสุขภาพดี11) มีสติปัญญา 12) มีความสามารถในการจัดรูปงาน 13) มีความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ( Ronald W.Stadt and other, 1973 : 49 -53 )

           1.6 แนวคิดของสต็อกดิลล์ (Stogdill) ได้จำแนกคุณลักษณะของผู้นำที่ดีไว้ดังนี้ 1)คุณลักษณะทางกาย เป็นผู้แข็งแรง มีร่างกายเป็นสง่า 2) พื้นฐานทางสังคม เป็นผู้มีการศึกษาและมีสถานะทางสังคมดี 3) สติปัญญาและความสามารถ เป็นผู้มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด มีการตัดสินใจดี 4) บุคลิกภาพ เป็นผู้มีความกระตือรือร้น ตื่นตัวอยู่เสมอ ควบคุมอารมณ์ได้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความเชื่อมั่นในตนเอง 5) คุณลักษณะที่สัมพันธ์กับงาน เป็นผู้มีความตั้งใจทำงาน มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ และ 6) คุณลักษณะทางสังคม เป็นผู้ที่สามารถร่วมมือกับผู้อื่นได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ร่วมงานและคนอื่น ๆ (R. M. Stogdill, 1974 : 74 - 75.)

           1.7 แนวคิดของเทรวาทราและนิวพอร์ท (Trewatha and Newport) ได้จำแนกคุณลักษณะผู้นำไว้ 4 ด้าน คือ 1) คุณลักษณะทางกาย ประกอบด้วย ความสูง น้ำหนัก รูปร่างหน้าตา ความมีพลัง และความทนทานของร่างกาย2) คุณลักษณะทางบุคลิกภาพ ประกอบด้วย ความทะเยอทะยาน ความเชื่อมั่นในตนเอง ความซื่อสัตย์ ความมานะและความดื้อรัน ความมีจินตนาการ 3) คุณลักษณะทางสังคม ประกอบด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความแนบเนียน ความเชื่อถือ ความมีฐานะ และความสามารถที่จะร่วมงานและ4) คุณลักษณะส่วนบุคคล ประกอบด้วย ความสามารถในการพูด ความรอบรู้ความสามารถในการวินิจฉัย ความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถในการทำงาน ความสำเร็จ และความรับผิดชอบ (R. L. Trewatha and G. M. 1982 : 388.)

          1.8 แนวคิดของฮอย และมิสเกล (Hoy and Miskel) ได้แบ่งคุณลักษณะของผู้นำออกเป็น 5 ลักษณะ คือ 1) ความเป็นผู้มีความสามารถ (capacity) ประกอบด้วย ความมีไหวพริบการตื่นตัว ทันต่อเหตุการณ์ การใช้เวลา และภาษาพูด ความเป็นผู้ริเริ่ม และความเป็นผู้ตัดสินปัญหาที่ดี 2) ความเป็นผู้มีความสำเร็จ (achievement) ประกอบด้วย ความสำเร็จทางด้านวิชาการและการแสวงหาความรู้ 3) ความเป็นผู้มีความรับผิดชอบ (responsibility) ได้แก่ การเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ มีความสม่ำเสมอ มั่นคง อดทน กล้าพูดกล้าทำ เชื่อมั่นในตนเอง และมีความทะเยอทะยาน 4) ความเป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วม (participation) ในด้านกิจกรรมด้านสังคมให้ความร่วมมือ รู้จักปรับตัว และมีอารมณ์ขัน และ5) ความเป็นผู้มีฐานะทางสังคม (status) มีตำแหน่งฐานะทางสังคมเป็นที่รู้จักทั่วไป(Wayne K. Hoy and Cecil G. Miskel, 2001 : 396 – 397. )

        1.9 แนวคิดของกริฟฟิท (Griffiths) ได้ระบุคุณลักษณะภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนในทฤษฎีการบริหารว่ามี 7 ประการ คือ 1) การเป็นผู้ริเริ่มงานใหม่ ๆ ขึ้น ซึ่งมักจะมีแผนงานที่จัดระเบียบขั้นตอนไว้เป็นอย่างดี โดยการทำงานหนักอยู่เสมอเพื่อให้งานที่ริเริ่มใหม่บรรลุผลสำเร็จ 2) การเป็นนักปรับปรุง โดยเป็นคนคอยกระตุ้นและให้โอกาสผู้ใต้บังคับบัญชาในการทำงานและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสวงหา และปรับปรุงวิธีการทำงานที่ดีกว่าวิธีเดิมอยู่เสมอ ตลอดจนเป็นผู้แนะแนวทางหรือวิธีทำงานใหม่ๆให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา 3) การเป็นผู้ให้การยอมรับผู้อื่น โดยดึงเอาความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาที่แฝงอยู่ในตัวออกมาใช้ให้ปรากฏ มองเห็นปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาในการทำ งาน ให้กำ ลังใจและคำ ชมเชย ยอมรับในผลสำเร็จของผู้ใต้บังคับบัญชา 4)การเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ คือพร้อมเสมอที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อมีปัญหาติดขัด มีความห่วงใยและกระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ 5) การเป็นนักพูดที่มีประสิทธิภาพ คือความสามารถในการพูดชักจูงผู้ใต้บังคับบัญชาให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกัน มีความสามารถในการใช้ภาษาซึ่งจะสร้างเสน่ห์ความศรัทธาและความเชื่อถือได้บนพื้นฐานของการพูดที่มีความจริงใจ 6) การเป็นผู้ประสานงานที่ดี คือ มีความสามารถในการกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนงานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามแผนงานของทุกฝ่าย 7) การเป็นผู้เข้าสังคมได้อย่างดี เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ มีความมั่นคง สุภาพ เอื้อเฟื้อ และมีความเป็นมิตร เพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนการทำงานของตนในโรงเรียน ทั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่ใช้เวลาในการสังคมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย ( D.E. Griffiths, 1956 : 112 -115 )

         1.10 แนวคิดของแม็คนูสัน (Magnuson) ได้จำแนกคุณลักษณะภาวะผู้นำของผู้จัดการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ออกเป็นคุณลักษณะด้านอาชีพและคุณลักษณะส่วนตัว คือ 1) คุณลักษณะด้านอาชีพประกอบด้วย ความสามารถในการติดต่อและเข้ากับผู้อื่นได้ดี มีความรู้ในสาขาวิชาชีพเป็นอย่างดีรู้จักมอบหมายงานให้ผู้ร่วมงาน ให้ความสนใจในบุคคลอื่น มีความสามารถในการวางแผนและการจัดระเบียบงาน รับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นและใช้อำนาจหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม 2)คุณลักษณะส่วนตัว ประกอบด้วย มีวิจารณญาณ มีความรู้กว้างขวาง มีความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี เป็นผู้มีสติไม่ใช้อารมณ์ มีความจริงใจ มีความเป็นมิตร มีอารมณ์ขัน มีใจกว้างและเปิดเผย มีความเสมอต้นเสมอปลาย มีความเมตตาปรานีและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ( WG Magnuson, 1971 : 74-75 )

         1.11 แนวคิดของเซอร์จิโอวานนี (Sergiovanni) ที่ได้เสนอยุทธวิธีและยุทธศาสตร์สำหรับผู้นำที่มีคุณภาพเป็นหลัก 10 ประการ ที่เรียกว่า The 10 – p Model of Quality Leadership โดยกล่าวว่าผู้นำที่มีคุณภาพจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ 1) ความจำเป็นพื้นฐาน (prerequisites) ได้แก่ มีทักษะที่จำเป็นของผู้นำที่จะพัฒนาและคงความสามารถของการเป็นผู้นำเบื้องต้นไว้ ซึ่งทักษะเหล่านี้มีกล่าวไว้ในทฤษฎีผู้นำมากมาย เช่น ทักษะในการแก้ข้อขัดแย้ง รูปแบบการตัดสินใจ การบริหารงานเป็นทีม และกระบวนการกลุ่ม เป็นต้น 2) การมองการณ์ไกล (perspective) ได้แก่ ความสามารถของผู้นำที่สามารถจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างยุทธศาสตร์และยุทธวิธี และเข้าใจที่จะนำมาสัมพันธ์กันได้อย่างดี 3) มีหลักการ (principle) ได้แก่ ผู้นำจะต้องมีแนวความคิดหรือหลักการในการที่จะปฏิบัติงานนั้น ๆ 4) หลักในการทำงาน (platform) ได้แก่ การที่จะนำเอาหลักการในข้อข้างต้นไปใช้ในการปฏิบัติงาน และวางเกณฑ์หรือมาตรฐานในการทำงาน หลังจากที่ได้ทำการตัดสินใจแล้ว 5) หลักการปกครอง (politics) ได้แก่ ผู้นำที่ดีควรมีลักษณะของการเป็นนักปกครองคือ มีความสามารถในการใช้อิทธิพลต่อบุคคล กลุ่มได้ ช่วยทำงานเพื่อให้งานบรรลุตามเป้าหมาย6) ความมุ่งประสงค์ (purposing) ได้แก่ ผู้นำที่ดีเวลาปฏิบัติงานควรตั้งความมุ่งหมายในการทำงานเพราะความมุ่งหมายจะช่วยแสดงให้เห็นถึงแนวทางในการทำงาน ความสำเร็จ และความผิดพลาด7)การวางแผน (planning) ได้แก่ การวางแผนเป็นการเชื่อมโยงความมุ่งหมายและโครงการปฏิบัติงานระยะยาวให้เป็นเชิงประจักษ์ 8) ความยืนหยัด (persisting) ได้แก่ ผู้นำที่ดีควรจะมีความยืนหยัดต่อหลักการที่สำคัญที่ได้กำหนดไว้เป็นเป้าประสงค์และผลผลิต ทั้งนี้หมายความว่าผู้นำจะต้องเข้าใจถึงคุณค่าที่พึงจะได้รับด้วย 9) การบริหารคน (people) ได้แก่ ยอมรับว่าถ้าปราศจากความปรารถนาดีจากบุคคลอื่นในหน่วยงานแล้ว ความสำเร็จจากงานนั้นจะสำเร็จได้น้อยมาก 10) ความรักองค์กร (patriotism) ได้แก่ ลักษณะความรักองค์กรของหน่วยงานอาจจะดูได้จากวัตถุประสงค์ที่เป็นที่ยอมรับ มีการทำงานหลัก มีความตระหนักในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ และทำงานอย่างมีความหมาย ไม่ใช่ทำด้วยความกระหาย และเซอร์จิโอวานนี (Sergiovanni) ได้พยายามแสวงหาคุณลักษณะของผู้นำ ซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานที่เป็นระบบมาก ๆ โดยผันแปรไปตามหลักการเป็นผู้นำที่มีคุณภาพหลาย ๆ ประการ ผลการวิจัยสรุปคุณลักษณะทั่วไป 3 ประการ ของผู้นำที่มีการทำงานเป็นระบบสูง คือ 1) ผู้นำที่มีผลการทำงานสูง จะใช้เวลานอกในการทำงานมากทำงานหนัก จะทดลองในสิ่งซึ่งสงสัย พยายามศึกษาถึงปัญหาในระบบการทำงาน 2) ผู้นำที่มีผลการทำงานสูง จะมีความรู้สึกรุนแรงมากเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของระบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง หรือการทำงาน อดีตการทำงาน หรือความมั่นคงในอนาคต มีความต้องการให้ระบบประสบความสำเร็จ ต้องการให้ระบบมีส่วนช่วยในสังคม ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตคน ซึ่งรวมอยู่ในระบบ เห็นความสำคัญของวัตถุประสงค์ขององค์การ และคุณค่าที่ได้รับ 3) ผู้นำที่มีผลการทำงานสูงจะเน้นเรื่องตัวแปรที่สำคัญ ๆ พร้อมทั้งการคำนึงถึงความสำคัญในการตั้งจุดประสงค์และคุณค่าขององค์การ โดยให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นจุดประสงค์สำคัญ ( Thomas J. Sergiovanni, 1982 : 331 – 336 )

         1.12 แนวคิดของปีเตอร์ เอ็ฟ.ดรักเกอร์ (Peter F. Drucker) กล่าวว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ คือ บุคคลที่ถามว่า อะไรคือปัจจัยที่จะทำงานสำเร็จลุล่วง ฉันมีความสามารถและสร้างความแตกต่างให้ออกมาได้อย่างไร อะไรคือเป้าหมายและภารกิจขององค์กร อะไรคือปัจจัยในการสร้างผลงานและผลลัพธ์ คำว่าชอบคนโน้นชังคนนี้จะไม่มีในตัวเขา แต่เขาจะไร้ความอดทนกับผลงานที่ไม่ดีของพนักงาน ผู้ที่ไม่กลัวกับความเก่งของผู้อื่นแต่กลับชื่นชอบ ( อ้างใน วิริญญ์บิดร วัฒนา 2543 : 45 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น