วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทักษะผู้บริหารการศึกษา

ทักษะผู้บริหารการศึกษา


ปัจจุบันจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี กฎหมายและเทคโนโลยีประกอบกับประชากรมีการศึกษามากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเรียกร้องในสิทธิและการบริการใหม่ๆ ทำให้การดำเนินงานในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลง และความเจริญก้าวหน้าของโลก และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะการบริการขั้นพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะการศึกษาของประชาชนของประเทศ

การดำเนินงานในหน่วยงานผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อหน่วยงานหรือองค์การคือผู้นำ หรือผู้บริหารองค์การนั้นๆ ที่จะนำองค์การที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะผู้บริหารเป็นผู้มีบทบาท และอิทธิพลสูงสุดต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานการศึกษาผู้บริหารหน่วยงานจะต้องมีศักยภาพและทักษะในการจัดการงานให้ประสบผลสำเร็จ

ทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้บริหาร แคทซ์(Katz. 1974:90-102) กล่าวว่าทักษะที่สำคัญสำหรับผู้บริหารที่ประสบผลสำเร็จ มี 3 ทักษะ คือ ทักษะด้านความคิดรวบยอด(Conceptual Skills) ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์(Human Skills) และทักษะทางด้านเทคนิค (Technical Skills) และ เครดและโรว์(Drake & Roe.1986:30) กล่าวว่าทักษะผู้บริหารสถานศึกษา มี 5 ทักษะ คือ 3 ทักษะ ของแคทซ์(Katz) และเพิ่มเติมอีก 2 ทักษะ คือ ทักษะด้านความรู้ความคิด(Cognitive Skills) และทักษะด้านการศึกษาและการสอน (Educational and Instructional Skills) เอกสารนี้ใช้ทักษะที่ผู้บริหารสถานศึกษาใช้ในการปฏิบัติงานมี 5 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะความคิดรวมยอด ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ ทักษะทางด้านเทคนิค ทักษะทางด้านการศึกษาและการสอน และทักษะทางด้านความรู้ความคิด

ความหมายของทักษะการบริหาร

แคทซ์(Katz. 1974:91)ให้ความหมายของทักษะว่า หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความรู้ ความเข้าใจออกมาในรูปของการกระทำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช 2525 (ราชบัณฑิตยสถาน.2539:392) ให้ความหมายว่า

ทักษะ หมายถึง ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ สอดคล้อง และ เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์(2539:1)ให้ความหมายว่า ทักษะเป็นความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญในการทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

มันดี และพรีโมซ์(Mondy &Premeaux.1995:6 อ้างถึงใน ชาตรี รัตนพิฑิธชัย.2547:13) ให้ความหมาย การบริหาร หมายถึง ศิลปะหรือกระบวนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยอาศัยผู้อื่น และวิโรจน์ สารรัตนะ(2442:11อ้างถึงใน ชาตรี รัตนพิฑิธชัย.2547:13)ให้ความหมาย การบริหาร หมายถึง กระบวนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การโดยอาศัยหน้าที่หลักทางการบริหารด้านการวางแผน การจัดองค์การ การนำ และการควบคุม

สรุปทักษะการบริหาร หมายถึง ความสามารถของบุคคลด้านศักยภาพ ความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญในการนำเอาทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์การ

การใช้ทักษะการบริหารงาน หมายถึง การใช้ทักษะในการบริหารจัดการงานให้ส้ำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนด ทักษะผู้บริหารสถานศึกษามีผู้ให้ความหมาย ว่าเป็นผู้ใช้ความรู้ ความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญในการบริหารงานสถานศึกษา โดยนำประสบการณ์มาปรับใช้ในการบริหารงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งความชำนาญเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ในอันที่จะก่อให้เกิดความชำนาญและความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อการบริหารงานการศึกษาของผู้บริหารการศึกษา

ทักษะการบริหารสถานศึกษา มี 5 ด้าน แคทซ์(Katz)และเครดและโรว์(Drake & Roe) คือ

2.1 ทักษะด้านความรู้ความคิด (Cognitive Skills) หมายถึง ความรู้ ความชำนาญในการใช้ความรู้ความคิด ปัญญา และวิสัยทัศน์ในการบริหารหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้ทันต่อโลกทางการศึกษาในยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย การใช้ความรู้ความเข้าใจในการจัดทำหลักสูตรได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของชุมชน สังคมและประเทศ การนำแนวคิดใหม่ ๆ มาใช้บริหารงานอย่างต่อเนื่อง นำนโยบายไปปฏิบัติโดยการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ใช้การบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม และสามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ทักษะทางด้านเทคนิค(Technical Skills) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารในการใช้ความรู้ วิธีการ เทคนิค เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเชี่ยวชาญ และชำนาญจากประสบการณ์ การศึกษา การฝึกอบรม มีความสามารถในการวางระบบงาน การจัดทำงบประมาณ การประชาสัมพันธ์หน่วยงาน ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน สามารถแนะนำหรือชี้แนะให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในการบริหารได้เหมาะสมกับสภาพของหน่วยงาน การใช้แผนปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือในการบริหารงาน การนำเทคนิคกระบวนการบริหารมาประยุกต์ใช้ การใช้ภาษาสื่อสารที่เข้าใจง่ายทั้งการพูดและการเขียน ใช้วิธีประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ใช้เทคนิคพัฒนาวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่ผู้บริหารควรรู้ และฝึกปฏิบัติ 8 ทักษะ (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 : 23 - 24) คือ

2.2.1 เทคนิคการบริหารงาน ที่ผู้บริหารต้องใช้การตัดสินใจอย่างรอบคอบโดยอาศัยข้อมูลและเหตุผลในการบริหารงาน

2.2.2 เทคนิคการสั่งการ ผู้บริหารต้องสั่งอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้องตามกาลเทศะให้เหมาะสมกับบุคคล

2.2.3 เทคนิคการรับฟังความคิดเห็น ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และวิเคราะห์พิจารณาความคิดเห็นก่อนจะนำไปใช้

2.2.4 เทคนิคการติชม ผู้บริหารควรติชมให้เหมาะกับกาลเทศะ และติชมในเรื่องผลงานโดยยึดหลักติเพื่อก่อ และชมเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดกำลังใจ

2.2.5 เทคนิคการก่อให้เกิดระเบียบวินัย ซึ่งการวางระเบียบวินัยควรคำนึงถึงความเหมาะสมและความสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อการปฏิบัติ รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมการปฏิบัติตามระเบียบวินัย

2.2.6 เทคนิคการวางตน ควรวางตนเป็นตัวอย่างมีความเที่ยงตรง ยุติธรรมไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แจกจ่ายงานให้ทั่วถึง ไม่ควรสนิทสนมกับผู้ใดโดยเฉพาะ

2.2.7 เทคนิคการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานเข้าร่วมสังคมภายในองค์การ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก

2.2.8. เทคนิคการเพิ่มสมรรถภาพให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีความก้าวหน้าในการทำงาน โดยการทำงานตามความรู้ความสามารถของตน และมีโอกาสได้ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา

เดรค และโรว์ (Drake and Roe. 1986 : 29) กล่าวว่า ทักษะทางเทคนิค เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความชำนาญในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ความสามารถในการใช้เครื่องมือและเทคนิควิธีการในการทำกิจกรรม และ ไปเซ (Paisey. 1992 : 96) กล่าวว่า เป็นการรู้เกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติในหน่วยงาน และสามารถปฏิบัติงานด้านบุคคล ระเบียบการ ในการควบคุม การหาแนวทาง และทำงานร่วมกัน ด้วยเทคนิคเฉพาะ คือผู้บริหารการศึกษาต้องมีความรู้ ในด้านการศึกษา ความสัมพันธ์กับชุมชน การเงินและสิ่งอำนวยความสะดวก และการพัฒนากำลังคน เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2539 : 2) ให้ความเห็นว่า ทักษะทางเทคนิคเป็นทักษะที่เกี่ยวข้อง กับการมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความชำนาญในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความสามารถในการใช้เครื่องมือและเทคนิควิธีในการทำกิจกรรมให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ สมยศ นาวีการ (2540 : 4) กล่าวว่า ทักษะทางเทคนิคเป็นความสามารถในการใช้ความรู้ วิธีการ เทคนิค และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ (2543 : 20 - 21) ให้ความเห็นว่าทักษะทางเทคนิค เป็นความสามารถในการทำงานเฉพาะอย่าง เกี่ยวกับกระบวนการ และเทคนิค โดยอาศัยความรู้ การวิเคราะห์ และการรู้จักใช้เครื่องมือในการปฏิบัติงาน ผู้บริหารจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเพื่อการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและสร้างศรัทธาให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา

สรุป ทักษะทางเทคนิคเป็นทักษะการใช้ความรู้ กระบวนการ และเครื่องมือที่จำเป็นในการดำเนินงานเพื่อให้งานสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่เกิดจากประสบการณ์ การศึกษา การฝึกอบรม และการกระทำที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน รวมทั้งสมารถแนะนำ ชี้แนะให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม และฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ เป็นทักษะในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในการบริหารได้เหมาะสมกับสภาพของหน่วยงาน การใช้แผนปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือการบริหารงาน การนำเทคนิคกระบวนการบริหารมาประยุกต์ใช้ การสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายทั้งการพูดและการเขียน ใช้วิธีประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายรูปแบบ และใช้เทคนิคการพัฒนางานวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 ทักษะทางการศึกษาและการสอน(Educational and Instructional Skills) หมายถึง ความรู้ความชำนาญในการจัดการและบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนของผู้บริหารสถานศึกษา หรือโรงเรียน ที่สอดคล้องกับภารกิจนโยบายการศึกษาของรัฐ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 ในการเป็นผู้นำทางวิชาการ มีความสามารถในการนิเทศการสอน เป็นผู้นำทางการศึกษา มีความรู้ เป็นนักวิชาการที่ดี ที่ใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาและการสอนถ่ายทอดแนะนำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเข้าใจในการเรียนการสอนยิ่งขึ้น ที่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ในการบริหารหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดตารางการเรียนการสอนสอดคล้องกับหลักสูตรและเหมาะสมตามวัยผู้เรียน ส่งเสริมให้ครูพัฒนาวิธีการสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ครูมีความก้าวหน้าทางวิชาการ การนิเทศการสอนอย่างสม่ำเสมอ การสนับสนุนให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียนและนำผลการวัดผลของนักเรียนมาใช้ปรับปรุงหลักสูตร

งานทักษะการศึกษาและการสอน คือ งานวิชาการเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษา งานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตร การจัดโปรแกรมการศึกษา และพบว่าร้อยละ 40 ของงานทั้งหมดของผู้บริหารสถานศึกษาเป็นงานด้านการจัดการเรียนการสอน สมิธ และคนอื่น ๆ (Smith and others. 1961อ้างใน วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์. 2539 : 99) สอดคล้องกับแนวคิดของ เดรค และโรว์ (Drake and Roe. 1986 : 29) ที่กล่าวว่าเป็นทักษะจำเป็นสำหรับผู้บริหารในฐานะเป็นผู้นำทางการศึกษาที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเรียนการสอน และจันทรานี สงวนนาม (2545 : 19) กล่าวว่า ทักษะทางการศึกษาและการสอน เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาถ้าผู้บริหารไม่เข้าใจการศึกษาก็ย่อมจะบริหารงานให้มีประสิทธิผลได้ยาก ซึ่งสถานศึกษาเป็นองค์การทางการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะและมีความแตกต่างจากองค์การอื่นซึ่ง แคมพ์เบลล์ และคณะ (Campbell and others. 1983 อ้างใน(จันทรานี สงวนนาม. 2545 : 125)กล่าวว่างานในหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา คือการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งมีหน้าที่ 6 ประการ คือ

2.3.1 พัฒนาเป้าหมาย และนโยบายของสถานศึกษา

2.3.2 จัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์

2.3.3 จัดหาและจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ สนับสนุนการปฏิบัติตามแผนการสอนและโปรแกรมการสอนต่าง ๆ

2.3.4 สร้างและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในสถานศึกษาในการนำโปรแกรมหรือแผนงานไปปฏิบัติ

2.3.5 ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานในด้านกระบวนการและผลผลิต

2.3.6 เป็นตัวแทนของสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมต่างๆที่สนับสนุนการเรียนการสอนกับชุมชน

สรุป ทักษะการศึกษาและการสอน เป็นทักษะที่ผู้บริหารใช้ความสามารถในการเป็นผู้นำทางการศึกษาและการเป็นผู้มีภูมิรู้ เป็นนักวิชาการที่ดี ใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนถ่ายทอดแนะนำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเข้าใจในการเรียนการสอน สอดคล้องกับภารกิจและนโยบายการศึกษา ที่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ชีวิต และสิ่งแวดล้อม บริหารหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร เหมาะสมตามวัยของผู้เรียน และเป็นไปตามแผนที่กำหนด พร้อมส่งเสริมให้ครูมีการพัฒนาวิธีการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ครูมีความก้าวหน้าทางวิชาการ การนิเทศการสอนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการสนับสนุนให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียน และนำผลการสอบของนักเรียนมาใช้ปรับปรุงหลักสูตร

2.4 ทักษะทางมนุษย์ (Human Skills)หมายถึง การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ความต้องการของคน การสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา การกระตุ้น ยกย่องชมเชย ให้เกิดความสามัคคี การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนทุกโอกาส มีหลักเกณฑ์ที่ดีในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีการประสานความร่วมมือกับชุมชนในการให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดึงศักยภาพของบุคลากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์การ เป็นทักษะการทำงานกับปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เป็นความสามารถในการทำงานร่วมกับคนและการใช้คนเพื่อปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน เข้าใจสภาพธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ รู้จักและเลือกใช้วิธีจูงใจให้ถูกต้องเหมาะสม สามารถเสริมสร้างความร่วมมือของทีมงาน

ทักษะทางมนุษย์ มีความสำคัญและจำเป็นในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพทุกระดับ ทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง โดยสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม มีการยกย่องและให้ความสำคัญและเป็นกันเองกับผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกสถานการณ์ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานตามความถนัดและความสามารถ ดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง และใช้ความสามารถในการประสานงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาและหน่วยงานอื่นในอันที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน และการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความศรัทธา และความไว้วางใจ แฮริส (Harris. 1963 : 15 – 16 อ้างถึงในสมบัติ โฆษิตวานิช. 2542 : 37) กล่าวว่า เป็นทักษะความเข้าอกเข้าใจ การรู้จักสังเกต สัมภาษณ์ ความสามารถในการอภิปราย สะท้อนความรู้สึก และการมีส่วนร่วมในการอภิปราย และการแสดงบทบาทสมมติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทักษะการตัดสินใจของผู้บริหาร ที่มีความสำคัญต่อการบริหารงาน ที่ถูกต้องเหมาะสมย่อมนำไปสู่การดำเนินงานที่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป ทักษะทางมนุษย์ เป็นทักษะที่ผู้บริหารต้องใช้ความสามารถในการทำงานร่วมกับคน และการใช้คนเพื่อปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน เข้าใจสภาพธรรมชาติความต้องการของมนุษย์พร้อม รู้จักและเลือกใช้วิธีจูงใจให้ถูกต้องเหมาะสม สามารถเสริมสร้างความร่วมมือของทีมงาน ในการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ การใช้หลักเกณฑ์ที่ดีในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก การประสานความร่วมมือกับชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อ การทำงานและสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีเมื่อเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ

2.5 ทักษะทางความคิดรวบยอด (Conceptual Skills) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารที่เข้าใจความสลับซับซ้อนขององค์การทั้งหมด ความสามารถในการมองเห็นองค์การในภาพรวม เหมือนนกที่มองจากที่สูง มีความเข้ใจถึงการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่กระทบต่อองค์การ มีความสามารถในการประสานงานต่างๆเข้าด้วยกัน และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความสามารถในการมองเห็นภาพ และเข้าใจหน่วยงานในทุกลักษณะโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานเข้าใจโครงสร้างภารกิจของการบริหารงานได้อย่างทะลุปรุโปร่ง พร้อมสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อหน่วยงาน การวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปฏิบัติงาน วิเคราะห์จุดแข็งและจุดด้อยขององค์การได้ มีการวางแผนพัฒนาการศึกษาได้ครอบคลุมทุกด้าน จัดระบบโครงสร้างการบริหารงานโดยยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก สามารถวิเคราะห์งานเพื่อจัดสรรที่เหมาะสมกับบุคลากร นำนโยบายของรัฐและแผนการศึกษามากำหนดเป็นแผนงาน วินิจฉัยปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ เดรค และ โรว์ (Drake and Roe. 1986 : 29) กล่าวว่า ทักษะทางความคิดรวบยอดเป็นความสามารถในการประสานสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และสามารถมองเห็น องค์การในภาพรวม ซึ่งผู้บริหารจะต้องรู้ถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันของส่วนต่าง ๆ หรือหน้าที่ต่าง ๆ ขององค์การ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อกันในส่วนอื่น ๆ ส่วน ซิทเทอลี (Sitterly. 1993 : 23) กล่าวว่า ทักษะทางความคิดรวบยอดเป็นความสามารถในการมองเห็นภาพรวมขององค์การ ที่ส่วนประกอบต่างๆต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลง จะมีผลกระทบกับส่วนอื่นๆ สมยศ นาวีการ (2540 : 25) ให้ความหมาย ทักษะทางความคิดรวบยอด คือ ความสามารถทางสมอง ในการประสาน และทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผลประโยชน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การ ทักษะทางความคิดรวบยอดเป็นความสามารถของผู้บริหารในการมององค์การโดยรวม และเข้าใจว่าส่วนต่างๆ ขององค์การขึ้นอยู่กับส่วนอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงส่วนใดจะมีผลกระทบต่อองค์การโดยรวม ผู้บริหารต้องการทักษะความคิดรวบยอดในการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ของสถานการณ์ว่ามีความเกี่ยวพันระหว่างกันอย่างไร เพื่อทำให้การกระทำของผู้บริหารเป็นผลดีกับองค์การ และสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ (2543 : 20) กล่าวว่าผู้บริหารจะต้องมีทักษะความคิดร่วมยอดในระดับมากในการเข้าใจในงานแต่ละบทบาทหน้าที่ขององค์การซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย และหากมีการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่หรือหน่วยงานย่อยต่าง ๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะกระทบกระเทือนถึงส่วนอื่นๆ ส่วน จันทรานี สงวนนาม (2545 : 15) ให้ความหมายของทักษะคตินิยมหรือทักษะทางความคิดรวบยอดว่า เป็นความสามารถในการมององค์การได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อทำให้องค์การมีความสมบูรณ์โดยส่วนรวม ทำให้การทำงานของแต่ละบุคคลเหมาะสมกับองค์การ ซึ่งทักษะความคิดร่วมยอด ประกอบด้วยทักษะ 2 ระดับ คือระดับพื้นฐาน และระดับชั้นสูง

2.5.1 ทักษะการคิดพื้นฐาน คือ ทักษะการสื่อสาร ได้แก่ การฟัง การจำ การอ่าน การรับรู้ การเก็บความรู้ การดึงความรู้ การจำได้ การใช้ความรู้ การอธิบาย การทำความกระจ่าง การบรรยาย การพูด การเขียน และการแสดงออก ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ การสังเกต การสำรวจ การตั้งคำถาม การรวบรวมข้อมูล การจัดหมวดหมู่ การตีความ การเชื่อมโยง การใช้เหตุผล การระบุ การจำแนกความแตกต่าง การจัดลำดับ การเปรียบเทียบ การอ้างอิง การแปลความ การขยายความ และการสรุปความ

2.5.2 ทักษะการคิดขั้นสูง คือ ทักษะการนิยาม การผสมผสาน การหาความเชื่อพื้นฐาน การวิเคราะห์ การสร้างและจัดระบบ การจัดโครงสร้าง การหาแบบแผน การทำนาย การตั้งสมมติฐาน การกำหนดเกณฑ์ การประยุกต์ การทดสอบสมมติฐาน และการพิสูจน์ กวี วงศ์พุฒ (2542 : 62) กล่าวว่า การบริหารงานผู้บริหารจะต้องคิดทุกวัน เพื่อให้งานสร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน ให้ทันตามกำหนดและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ต้องคิด ก้าวไกล เพื่อให้งานสัมพันธ์กับระบบดังกล่าว ทักษะทางความรู้ความคิดเป็นทักษะระดับพื้นฐานของผู้บริหาร ส่วนผู้บริหารการศึกษาจะต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ด้านกฎระเบียบต่างๆ ความรู้และหลักการและทฤษฎีทางการบริหาร โดยใช้ทฤษฎีทางการบริหารเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและประยุกต์ใช้ ได้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพองค์การ พร้อมค้นคว้าแนวคิดกลยุทธ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง


สรุปได้ว่า ทักษะทางความรู้ความคิด หมายถึง ความรู้ความชำนาญที่เกิดจากพื้นฐาน ทางความรู้ ความคิด สติปัญญา และวิสัยทัศน์ เพื่อการบริหารงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพซึ่งประกอบด้วย การใช้ความรู้ความเข้าใจในการจัดทำหลักสูตรได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของชุมชนและสังคม การนำแนวคิดใหม่ ๆ มาใช้บริหารงานอย่างต่อเนื่อง การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การบริหารงานอย่างเป็นระบบ การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม และสามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ทฤษฎีที่ใช้ในทักษะผู้บริหาร เนื่องจากทักษะเป็นส่วนหนึ่งของภาวะผู้นำ ดังนั้น ทฤษฎีที่ใช้คือทฤษฎีภาวะผู้นำหรือทฤษฎีบทบาทผู้บริหาร เช่น

ทฤษฎีแรงจูงใจ เช่น ทฤษฎี X และ Y ของ Douglas McGregor.1906-1964 อ้างในศิริวรรณ เสรีรัตน์.2539:247-248)เป็นทฤษฎีที่ตรงกันข้ามกัน คือการจัดการความสัมพันธ์ของบุคลากร โดย ทฤษฎี X มองพนักงานขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้น ไม่ชอบงาน และพยายามหลีกเลี่ยงงาน และ ทฤษฎี Y มองพนักงานมีความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มในการแก้ปัญหาในการทำงาน และไม่มีความเบื่อหน่ายในการทำงาน ซึ่งผู้บริหารที่เลือกใช้ ทฤษฎี Y จะให้พนักงานควบคุมตนเอง และเลือกวิธีการเองเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ มากกว่าให้บุคคลอื่นควบคุม ซึ่งเป็นการบริหารที่ให้พนักงานมีส่วนร่วม เป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับทฤษฎีความต้องการของ Maslow

ทฤษฎีความต้องการ ประกอบด้วย

ทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์(Maslow’s hierarchy of need) เป็นทฤษฎี ความต้องการตามลำดับขั้น หรือทฤษฎีจูงใจของมาสโลว์ โดย Abraham Maslow อ้างในศิริวรรณ เสรีรัตน์.2539:36,248-250)คือ สิ่งกระตุ้นให้คนแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองตามความต้องการ มี 5 ขั้น 1) ความต้องการด้านร่างกาย เป็นความต้องการเพื่อการอยู่รอด 2)ความต้องการความมั่นคงหรือปลอดภัย เป็นความต้องการที่เป็นอิสระทางร่างกาย และเกรงกลัวต่อการสูญเสียงาน ทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย 3)ความต้องการการยอมรับ หรือความผูกพัน เป็นความต้องการได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่น 4)ความต้องการการยกย่อง เป็นความต้องการที่ได้รับการยกย่องจากบุคคลอื่น เป็นความพึงพอใจในอำนาจ มีความภาคภูมิใจในสถานะ และความเชื่อมั่นในตนเอง และ 5)ความต้องการความสำเร็จในชีวิต เป็นความต้องการความสำเร็จตามที่ต้องการ ดังนั้น ผู้บริหารต้องใช้หลักการบริหารโดยคำนึงถึงความต้องการของคนทั้ง 5 ขั้น

ทฤษฎีการจูงใจของ ERG ของ Alderfer (Alderfer’s ERG theory)เป็นทฤษฎีลำดับขั้นความ

ต้องการ มี 3 ระดับ คือ1)ความต้องการอยู่รอด(Existence need (E)เป็นความต้องการระดับต่ำสุดเทียบกับความต้องการของมาส์โลว์คือความต้องการด้านร่างกายและความต้องการความปลอดภัย 2) ความต้องการความสัมพันธ์(Related need (R)คือความต้องการทางสังคม เป็นความต้องการความปลอดภัย และความต้องการยกย่องรวมกันตามทฤษฎีของมาสโลว์ และ3)ความต้องการความเจริญก้าวหน้า (Growth need (R) เป็นความต้องการการยกย่อง และต้องการประสบผลสำเร็จตามทฤษฎีของมาสโลว์

ทฤษฎีสองปัจจัยของ Herberg (Herberg’s two factor theory) เป็นทฤษฎีแรงจูงใจเกี่ยวกับ

ความพึงพอใจและไม่พึงพอใจในการทำงาน ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ 1)ปัจจัยสุขอนามัย (Hygiene factor)เป็นปัจจัยที่สร้างความไม่พึงพอใจในการทำงาน เป็นปัจจัยที่ไม่ได้เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานแต่เป็นปัจจัยที่ป้องกันไม่ให้ผลผลิตลดลง คือเป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน 2)ปัจจัยจูงใจ(motivation) เป็นปัจจัยที่สร้างความพึงพอใจในการทำงาน เป็นปัจจัยภายใน หรืออนามัยในการทำงาน

ทฤษฎีความต้องการที่แสวงหาความต้องการเฉพาะอย่าง Mc Clelland (Mc Clelland’s

acquired need theory)เป็นทฤษฎีการแสวงหาการเรียนรู้ตามความต้องการของแต่ละบุคคลด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการจูงใจความต้องการพื้นฐาน 3 ด้าน คือ ความต้องการอำนาจ 2)ความต้องการความผูกพัน และ3)ความต้องการความสำเร็จ


3. ทฤษฎีกระบวนการการจูงใจ หรือทฤษฎีความเข้าใจ เป็นการใช้กระบวนการคิดในการตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งที่ต้องการ เป็นสิ่งกระตุ้นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน คือ 1)การรับรู้ของบุคคลที่ใช้ความพยายามนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงาน(Bovee and other.1993:G-5อ้างใน ศิริวรรณ เสรีรัตน์.2539:255)เป็นการประเมินศักยภาพหรือความสามารถในการทำงานว่าสามารถดำเนินงานได้บรรลุความต้องการหรือไม่และพยายามปฏิบัติงานให้ประสบผลสำเร็จซึ่งจะนำมาสู่ความคาดหวัง 2)ความคาดหวังผลลัพธ์จากการทำงาน เป็นการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกับความเป็นไปได้ในผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน จากสภาพแวดล้อมและรางวัลที่จะได้รับ 3)การรับรู้ถึงการทำงานที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือคุณค่าความพอใจในผลลัพธ์ และความต้องการที่จะได้รับรางวัลจากผลการทำงานนั้น

3.1.ทฤษฎีความคาดหวังของ Vroom (Vroom’s expectancy theory) คือการจูงใจของบุคคลมีผลต่อผลลัพธ์จากการใช้ความพยายามทางบวกและทางลบ คูณด้วยความเชื่อมันจากการใช้ความพยายามเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

3.2 ทฤษฎีความยุติธรรม (Equity theory)คือการใช้วิจารณญาณของบุคคลกับความยุติธรรมของรางวัลที่ได้รับโดยเปรียบเทียบกับปัจจัยนำเข้าและปัจจัยพยายาม ประสบการณ์ การศึกษา ฯ และรางวัล

4. ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement theories) เป็นแรงจูงใจพื้นฐานที่ใช้ในการปรับปรุงพฤติกรรม และเทคนิคในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ซึ่งเกี่ยวกับวิธีการ สาเหตุการให้รางวัล และการลงโทษซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม มี 4 วิธี คือ 1)การเสริมแรงทางบวก หมายถึงการบริหารรางวัลตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดพฤติกรรมตามที่ต้องการ สร้างให้เกิดพฤติกรรมมากขึ้นด้วยการให้รางวัลสำหรับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง 2) การเรียนรู้การหลักเลี่ยงปัญหา หรือการเสริมแรงทางลบ คือการจัดลำดับเหตุ(ปัญหา)ที่ไม่น่าพอใจต่อพฤติกรรมที่พึงพอใจ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเพราะกลัวผลร้ายที่จะได้รับ 3) การยับยั้งพฤติกรรม คือการเลิกรางวัลเพื่อยับยั้งพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการปราม 4) การลงโทษ คือการปรับพฤติกรรมจากผลด้านลบ


5.ทฤษฎีระบบ และทฤษฎีเชิงสถานการณ์

5.1 ทฤษฎีระบบ(System theory)เป็นกระบวนการทำงานที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน โดยระบบประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า กระบวนการแปรสภาพ ผลผลิต และการป้อนกลับ ซึ่ง 1)ปัจจัยน้ำเข้า(Input) ประกอบด้วย ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตหรือสินค้าและบริหาร คือ คน สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เงิน และข้อมูล 2) กระบวนการแปรสภาพ (Transformation) ประกอบด้วยการจัดการ เทคโนโลยี และการปฏิบัติการผลิต เพื่อเปลี่ยนปัจจัยนำเข้าให้เป็นผลผลิต 3) ผลผลิต(Output)เป็นสินค้า หรือบริการ กำไร และขาดทุน ที่ผู้บริหารและพนักงานต้องการให้บรรลุจุดมุ่งหมาย 4)การป้อนกลับ(Feedback)เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพและผลลัพธ์กิจกรรมองค์การ เป็นข้อมูลเพื่อใช้ปรับปรุงปัจจัยนำเข้า และกระบวนการแปรสภาพ เพื่อให้สินค้าหรือบริการที่ผลิตได้มีความพึงพอใจมากขึ้น เป็นทฤษฎีที่มองว่าระบบต่างๆ มีความสัมพันธ์และมีปฏิกิริยาต่อกัน

5.2 ทฤษฎีเชิงสถานการณ์(Contingency theory of management) เป็นทฤษฎีการจัดการเชิงสถานการณ์ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

บรรณานุกรม
กวี วงศ์พุฒ. (2542). ภาวะผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมวิชาชีพ.
จันทรานี สงวนนาม. 2545. ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารสถานศึกษา. กรุงเทพฯ : บุ๊คพอยท์.
ชาตรี รัตนพิพิธชัย. 2547. ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ทักษะการบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียนกับการ
ประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. 2535 . การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช.
ภิภพ วชังเงิน. 2547.พฤติกรรรมองค์การ Organization Behavior.กรุงเทพ:รวมสาส์น(1977)จำกัด
ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525. พิมพ์ครั้งที่ 5กรุงเทพ : ราชบัณฑิตยสถาน.
วีระวัฒน์ อุทัยรัตน์. 2539. “ แนวคิดในการบริหารสถาบันการศึกษา : ทฤษฎีและการปฏิบัติ, ”
ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต และครุศาสตรมหาบัณฑิต. คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมยศ นาวีการ. 2540. การบริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สามัคคีสาร (ดอกหญ้า).
สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ. 2543. รายงานการวิจัยเอกสารเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ผู้บริหาร. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. 2539. ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารการศึกษา.เอกสารประกอบคำสอน.
อัดสำเนา
สมบัติ โฆษิตวานิช. (2542). การศึกษาการใช้ทักษะการบริหารของหัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่ตาม
การรับรู้ของตนเอง และของผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด สังกัดสำนักงาน
คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. วิทยานิพนธ์ ค.ม.(การบริหารการศึกษา).
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ถ่ายเอกสาร.
ศิริวรรณ เสรีรัตน์,ลัทธิกาล ศรีวะรมย์,สมชาย หิรัญกิตติ,สุดา สุวรรณาภิรมย์,ชวลิต ประภวานนท์.2539.
องค์การและการจัดการ ฉบับมาตรฐาน Organization and management .กรุงเทพ: ธีระฟิล์ม.Drake,Thelbert L. and William H. Roe. 1986. The Pricipalship. 3 rd ed.New York :Macmillan.
Katz.Robert L.(1974,September-October) ” Skill of AN Effective Administrator.” Harward Business Review.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น