วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กรอบแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีระบบ

การวิจัยเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการประเมินความสำเร็จของโครงการหรือการวัดความสามารถในการบรรลุผลของการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลที่ได้จากการประเมินจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการดำเนินงานว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด นักทฤษฎีองค์การทั้งหลายต่างพากันเสนอแนวคิด วิธีการวิเคราะห์และตัวแบบ (Models) ของการศึกษาเพื่อการประมินความสำเร็จของโครงการหรือหน่วยงานต่างๆ (Amitai Etzioni, 1964 :1 อ้างใน ภรณี กีร์ติบุตร, 2529 : 1) กิบสันและคณะ (Gibson and others, 1979 : 27) เสนอแนะว่าการประเมินประสิทธิภาพการบริหารการจัดการทีเหมาะสมที่สุดคือการใช้แนวคิดทฤษฎีระบบเป็นตัวแบบหรือเครื่องมือในการวิเคราะห์

ทฤษฎีระบบ (System Theory) มีต้นกำเนิดมาจากนักทฤษฎีองค์การและนักชีววิทยาคือ โบลด์ดิ้งและ เบอร์ทาแลนด์ไฟ (Boulding and Bertalunffy) ที่มององค์การในฐานะสิ่งมีชีวิต โดยมองในรูประบบเปิดเหมือนระบบกายวิภาคของสิ่งมีชีวิต (Anatomy) เช่นเดียวกับ มิลเลอร์และไรซ์ (Miller and Rice, 1967 : 3) คิมเบอร์ลี่ (Kimberly, 1979 : 437 – 457) และดาวส์ (Downs, 2524 : 13 – 20) รวมทั้งนักทฤษฎีอื่น ๆ อีกหลายท่าน

แนวคิดของทฤษฏีระบบ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวแบบที่เหมาะสมในการประเมินผลตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพราะเป็นการศึกษาและมองภาพชุมชนท้องถิ่นอย่างองค์รวมและเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยขององค์การหรือหน่วยเปลี่ยนสภาพซึ่งในที่นี้คือชุมชนท้องถิ่น หน่วยปัจจัยนำเข้า หน่วยนำออกผลผลิต และหน่วยผู้ใช้ผลผลิตซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมองค์การ จะเรียกว่า “บริบท” (Context) ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.เฉลียว บุรีภักดี ได้สังเคราะห์จากการศึกษาทฤษฎีทั้งตะวันตกและแนวคิดตะวันออก ดังนี้

ข้อชี้แนะในการศึกษาทฤษฎีระบบ

ศาสตราจารย์ ดร.เฉลียว บุรีภักดี ได้สังเคราะห์แนวความคิดเชิงระบบ (Systems Concepts) และการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ในตำราภาษาอังกฤษหลายเล่ม กับได้ศึกษาทฤษฎีในทางพุทธธรรม 3 ทฤษฎี คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และไตรลักษณ์ ตลอดเวลาประมาณ 30 ปี ที่ได้ศึกษาเรื่องนี้และได้เฝ้าสังเกต “สิ่งจริง” หรือ “Reality” ในเอกภพนี้ (The Universe) แล้วนำมาคิดทบทวนประมวลและสังเคราะห์เข้าด้วยกัน สรุปขึ้นเป็นแนวคิดเชิงทฤษฎีชุดหนึ่ง แนวคิดประเด็นต่าง ๆ อันเป็นส่วนประกอบของ “ทฤษฎีระบบ” นับว่าเป็นผลสะสม ซึ่งได้ผ่านการปรับปรุงมาเป็นระยะ ๆ คือ เมื่อสังเกตเห็นปรากฏการณ์บางอย่างของสิ่งจริง (Reality) เพิ่มขึ้นก็นำมาปรับปรุงแนวความคิดเดิมให้สอดคล้องกับสิ่งที่สังเกตเห็นนั้นพร้อมกับกลับไปศึกษาแนวความคิดของผู้อื่นอีกครั้ง และทดลองนำแนวความคิดใหม่ที่ปรับปรุงแล้วของตนเองไปเปรียบเทียบหรือประยุกต์ใช้กับสิ่งจริงอีกอันหนึ่ง เพื่อตรวจดูความสอดคล้องกัน ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า ทฤษฎีใด ๆ ถ้าไม่สอดคล้องกับสิ่งจริง ย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะใช้อธิบาย หรือใช้ทำนาย หรือใช้ควบคุมความเป็นไปของสิ่งจริงเหล่านั้น

ทฤษฎีระบบนี้มีลักษณะเนื้อหาสาระเป็น “ทฤษฎีทั่วไป” หรือเป็นความคิดพื้นฐาน หรือข้อตกลงเบื้องต้น (Basic Assumption) ที่รองรับทฤษฎีเฉพาะด้านหรือทฤษฎีเฉพาะเรื่อง กล่าวคือ ทฤษฎีเฉพาะด้านทั้งหลายต่างก็มีข้อตกลงเบื้องต้นมาก่อนว่า “ผลย่อมเกิดจากเหตุ” ดังเช่นที่เป็นความคิดหลักของทฤษฎีระบบ จากนั้นแต่ละทฤษฎีดังกล่าว จึงเจาะจงระบุแต่ละคู่ของความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล

เมื่อนำทฤษฎีระบบไปใช้อธิบายเหตุการณ์หรือใช้แก้ปัญหา เราสามารถนำเอาทฤษฎี อื่น ๆ เฉพาะด้านมาใช้ร่วมกันได้อย่างไม่มีความขัดแย้ง ทฤษฎีระบบจึงเป็นเหมือนเบ้าหลอมรวมทฤษฎีอื่น ๆ เข้ามาใช้งานด้วยกันได้

ภาพโดยรวมของทฤษฎีระบบ

ทฤษฎีระบบ (The Systems Theory) คือ แนวคิดที่เชื่อว่าเอกภพแห่งนี้ (The universe) เป็นหนึ่งหน่วยระบบ ซึ่งมีคุณสมบัติประการต่าง ๆ ตามที่จะกล่าวต่อไป ยกเว้นบางประการที่ยังไม่อาจจะรู้ได้ เพราะเอกภพเป็นหน่วยระบบที่ใหญ่โตเกินกว่าที่เราจะสังเกตและพิสูจน์ได้ครบถ้วน และแม้ส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของเอกภพซึ่งนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเรียกว่า “คว้าร์ก” (Quaek) และเราสังเกตหรือพิสูจน์ได้ยากก็เป็นหน่วยระบบเช่นเดียวกัน แต่อาจมีคุณสมบัติอย่างไม่ครบถ้วน ส่วนสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลายที่มีขนาดระหว่างกลางของสิ่งทั้งสองนี้ ล้วนมีคุณสมบัติของความเป็นหน่วยระบบครบถ้วนทุกประการ

คุณสมบัติสำคัญเท่าที่ได้ค้นพบแล้วของหน่วยระบบแต่ละหน่วย คือ

1. เป็นหน่วยทำงาน

2. มีขอบเขต

3. มีผลผลิต

4. มีกระบวนการ

5. มีปัจจัยนำเข้า

6. มีบริบท

7. มีผลย้อนกลับ

8. ประกอบขึ้นจากหน่วยระบบอนุระบบจำนวนหนึ่ง

9. เป็นหน่วยอนุระบบหนึ่งของหน่วยอภิระบบ

10. มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดบนมิติเวลา

11. มีที่มาที่อยู่และที่ไป

เมื่อนำคุณสมบัติทั้งหลายมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นแผนภาพเดียว จะได้รูปแบบเป็นโครงสร้างทางความคิด (Conceptual Framework) ของหนึ่งหน่วยระบบ (A System Unit)

1. คุณสมบัติของการ “เป็นหน่วยทำงาน” (Working Unit) ในที่นี้หมายความว่า หน่วยนี้มิได้อยู่นิ่งเฉยแต่เป็นหน่วยทำงานบางอย่างตามลักษณะงานที่หน่วยระบบนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทำงานซึ่งลักษณะงานเหล่านี้บางอย่างมนุษย์ก็ไม่อาจรู้ได้หรือเข้าใจได้เสมอไป เช่น มนุษย์ไม่รู้ว่าเอกภพถูกสร้างขึ้นมาโดยอะไรหรือโดยผู้ใด เพื่อให้ทำงานอะไร แต่มีบางหน่วยระบบที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ เช่น เรารู้ว่าคณะกรรมการสอบคัดเลือกของโรงเรียนถูกสร้างขึ้นโดยอาจารย์ใหญ่ เพื่อทำการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน เป็นต้น

2.มีขอบเขต

คุณสมบัติของการ “มีขอบเขต” (Boundary) ในที่นี้หมายความว่า มีเส้นเขตแดนล้อมรอบเนื้อที่ของหน่วยนี้ ซึ่งอาจแบ่งแยกเนื้อที่ของหน่วยนี้ออกจากหน่วยอื่น ทำให้หน่วยอื่น ๆ เหล่านั้นมีสภาพเป็น “บริบท” ของหน่วยนี้ เช่น ผิวหนังและปลายเส้นผมของคนเป็นแนวแบ่งเขตแดนซึ่งแยกคนหนึ่งออกจากสิ่งอื่นภายนอก

3.มีผลผลิต

คุณสมบัติของการ “มีผลผลิต” (Product) ในที่นี้หมายความว่า หน่วยระบบนี้ให้ ผลผลิตบางอย่าง อันเป็นผลมาจากการทำงานของหน่วยระบบ ผลผลิตดังกล่าวอาจมีมากกว่าหนึ่งรายการก็ได้และแต่ละรายการเมื่อหลุดออกมาจากหน่วยระบบแล้ว ก็จะเลื่อนไหลไปเป็นปัจจัยนำเข้าของหน่วยระบบอื่นที่เป็นบริบทของหน่วยระบบนี้ต่อไป

4.มีกระบวนการทำงาน

คุณสมบัติของการ “มีกระบวนการทำงาน” ( Process) คือ หน่วยระบบนี้มีกระบวนการทำงานที่มีลักษณะเป็นแบบแผนชัดเจนและมีความคงที่ในห้วงเวลาหนึ่งสามารถสังเกตได้และประเมินได้กระบวนการทำงานนี้คือการที่ปัจจัยนำเข้าต่าง ๆ มากระทำปฏิกิริยาต่อกัน จนบังเกิดเป็นผลผลิตของหน่วยระบบ กระบวนการอาจจะมีหลายขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนมีลักษณะเป็นหน่วยระบบในตัวเองอีกด้วย คือ มีคุณสมบัติทุกข้อ ของหน่วยระบบ

5.มีปัจจัยนำเข้า

คุณสมบัติของการ “มีปัจจัยนำเข้า” (Input) ในที่นี้หมายความว่า หน่วยนี้ได้รับเอาบางสิ่งบางอย่างเข้ามาในหน่วยระบบ เพื่อนำไปเข้ากระบวนการและแปลงรูปเป็นผลผลิต ปัจจัยนำเข้าเหล่านี้ได้มาจากผลผลิตของหน่วยระบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นบริบทของหน่วยนี้ มีข้อควรสังเกต คือหน่วยระบบที่เป็นสิ่งมีชีวิตสามารถคัดเลือกปัจจัยนำเข้า แต่หน่วยระบบที่ไม่มีชีวิต จะไม่สามารถคัดเลือกปัจจัยนำเข้าด้วยตัวเอง เว้นไว้แต่ได้ถูกวางเงื่อนไขหรือโปรแกรมไว้ล่วงหน้าโดยผู้สร้างหน่วยระบบนั้นกิจกรรมการคัดเลือกปัจจัยนำเข้า หรือการปรับกระบวนการภายในได้ชื่อว่าเป็นการส่งผลย้อนกลับภายใน (Internal Feedback) ปัจจัยนำเข้าบางตัวเช่น “บุคคล” สามารถจัดการเลือกสรรปัจจัยนำเข้าตัวอื่น ๆ สามารถกำหนด กระบวนการ และสามารถกำหนดลักษณะของผลผลิตของหน่วยระบบได้

6.มีบริบท

คุณสมบัติของการ “มีบริบท” (Context) ในที่นี้หมายความว่ามีหน่วยระบบอื่นๆ จำนวนหนึ่งที่อยู่นอกเส้นเขตแดนของหน่วยนี้ ซึ่งให้ปัจจัยนำเข้าแก่หน่วยนี้และรับเอาผลผลิตของหน่วยนี้ หน่วยอื่นๆ เหล่านั้นเมื่อรวมกันแล้วเรียกว่าบริบทของหน่วยนี้ การที่ผลผลิตถูกส่งผ่านบริบทแล้วมีผลกระทบไปถึงปัจจัยนำเข้าขั้นต่อไปเช่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นส่งผลย้อนกลับภายนอก ( External Feedback) บริบทมีอิทธิพลต่อหน่วยระบบอย่างมาก อาจเป็นผู้สร้างหน่วยระบบให้เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงหน่วยระบบก็ได้ ทั้งด้านปัจจัยนำเข้ากระบวนการ และผลผลิตของหน่วยระบบ

7. มีผลย้อนกลับ

คุณสมบัติของการ “มีผลย้อนกลับ” ( Feedback) ในที่นี้คือการที่ผลผลิตตามขั้นตอนต่าง ๆ จากการทำงานของหน่วยระบบถูกส่งให้มีผลกระทบไปถึงขั้นก่อนหน้านั้น ถ้าผลดังกล่าวถูกส่งผ่านบริบทภายนอกได้ชื่อว่าเป็นการส่งผลย้อนกลับภายนอก (External Feedback) และถ้าเป็นการส่งผ่านภายในขอบเขตของหน่วยระบบเองเรียกว่า การส่งผลย้อนกลับภายใน (Internal Feedback) ดังได้กล่าวแล้วในข้างต้น

8. ประกอบขึ้นจากหน่วยอนุระบบจำนวนหนึ่ง

คุณสมบัติของการ “ประกอบขึ้นจากหน่วยอนุระบบจำนวนหนึ่ง” (Being Composed of a Number of a Subsystem Units) ในที่นี้หมายความว่า หน่วยระบบนี้เมื่อนำมาวิเคราะห์แยกแยะหาส่วนประกอบจะพบว่าประกอบด้วยอนุระบบย่อยๆ จำนวนหนึ่ง หน่วยอนุระบบดังกล่าวได้แก่ปัจจัยนำเข้าแต่ละรายการ กระบวนการทำงานแต่ละรายการ และผลผลิตแต่ละรายการ ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติเป็นหน่วยระบบในตัวเองทั้งสิ้น

9. เป็นหน่วยอนุระบบหนึ่งของหน่วยอภิระบบหนึ่ง

คุณสมบัติของการ “เป็นหน่วยอนุระบบหนึ่งของหน่วยอภิระบบหนึ่ง” ( Being a Subsystem Units of a Suprasystem Units) ในที่นี้หมายความว่า หน่วยระบบนี้เป็นส่วนย่อยของหน่วยอภิระบบอีกหน่วยหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหน่วยนี้ หน่วยอภิระบบดังกล่าวนอกจากประกอบขึ้นจากหน่วยอนุระบบนี้แล้วยังประกอบด้วยหน่วยอนุระบบอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง หน่วยระบบที่เป็นสมาชิกหรือส่วนประกอบทั้งหลายเหล่านี้จะทำงานประสานกันเพื่อผลผลิตของแต่ละหน่วยอนุระบบรวมกันส่งผลให้เป็นผลผลิตรวมของหน่วยอภิระบบ

10. มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดบนมิติเวลา

คุณสมบัติของการ "มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดบนมิติเวลา" (Having Starting Point and Ending Point on Time Dimension) ในที่นี้หมายความว่าหน่อยระบบนี้เกิดขึ้น ณ เวลาหนึ่งเวลาใดแล้วดำเนินไประยะเวลาหนึ่ง จึงสิ้นสุดความเป็นหน่วยระบบ โดยที่บรรดาอนุระบบของหน่วยระบบนี้แยกสลายจากกัน มิได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลผลิตรวมของหน่วยระบบนี้อีกต่อไป บรรดาหน่วยอนุระบบที่แยกสลายจากกันแล้วนั้น ต่างหน่วยก็ต่างแยกย้ายกันไปเป็นปัจจัยนำเข้าของหน่วยระบบอื่น ๆ ในบริบทหรือในอภิระบบต่อไป

11. มีที่มาที่อยู่และที่ไป

คุณสมบัติของการ "มีที่มาที่อยู่และที่ไป (Having Past Condition, Present Condition, and Future Condition) ในที่นี้หมายความว่าหน่วยระบบแต่ละหน่วยย่อมก่อกำเนิดมาจากเหตุการณ์ใดเหตุการหนึ่งก่อนหน้านี้ และมาปรากฏดังในสภาพปัจจุบัน แล้วจึงจะถึงเวลาในอนาคตที่ไปสู่สภาพอื่น การก่อกำเนิดก็ดีและการดำรงอยู่ก็ดี ตลอดจนการเป็นไปในอนาคตก็ดีล้วนมาจากการกระทำของเหตุปัจจัยที่เป็นธรรมชาติหรือเหตุปัจจัยที่เป็นการกระทำของมนุษย์ หรือทั้งสองประการผสมกัน เช่น หน่วยครอบครัวถูกสร้างขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์หรือทั้งสองประการผสมกัน เช่นหน่วยครอบครัวถูกสร้างขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์ แต่สัตว์เซลล์เดียว ถูกสร้างขึ้นโดยการกระทำของธรรมชาติ เป็นต้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเป็นการกล่าวถึงผู้นำ ในการบริหารงาน เกี่ยวข้องกับทฤษฎีอะไร

    ตอบลบ