วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อิทธิพลของจิตลักษณะและสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 4 แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม มาตรา 80 ( 3 ) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝั่งให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (4) ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนองค์การทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ( 5 ) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ และ (6) ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก หน้า 23-24 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ) ประกอบกับ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 หมวด 2 การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง (9 ) การจัดการศึกษา (พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2542 :5-6 ) และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50 (6 ) เทศบาลมีหน้าที่จัดการศึกษา ให้กับประชาชนในเขตเทศบาล ซึ่งนับว่าชัดเจนในแนวนโยบายด้านการนำลงสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษาของท้องถิ่น ประกอบกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2545 มาตรา 4 กำหนดให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษามีหน้าที่ความรับผิดชอบและบทบาทในการจัดการเรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์ ขัดเกลาและพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเจริญงอกงาม เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล และสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกฝน การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลง ความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ อันเกิดจากการจัดการสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับ ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2547:12 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ทิศทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดขึ้นบนพื้นฐานการเสริมสร้างทุนของประเทศทั้งทุนด้านสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ครอบคลุม 3 เรื่องหลักคือ 1 ) การพัฒนาคนไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้ 2) การเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ 3 ) การเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ( แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ( พ.ศ. 2550 – 2554 ) : 47 – 50 )

        ภารกิจและความรับผิดชอบของสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาจะสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ( พ.ศ. 2550 – 2554 ) เพียงใดนั้นแนวทางการจัดการศึกษามีหน้าที่หลักอยู่หลายประการ ประการแรกคือ การศึกษามีหน้าที่สร้างคน หมายความว่าตั้งแต่การสร้างพลเมือง การสร้างนักวิชาชีพ การสร้างแรงงาน นักวิชาการ ฯลฯ ประการที่สอง การศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการสร้างความแข็งแกร่งทางสังคม และเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมเสื่อมหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตสังคม และประการที่สาม การศึกษาเป็นเสาหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ ( เกษม วัฒนชัย. 2545 : 1-2 ) ซึ่งได้สอดคล้องกับ สิปปนนท์ เกตุทัต (2542:5) ที่ได้กล่าวไว้ว่า “ คุณภาพของการศึกษาขึ้นอยู่ กับกระบวนการจัดการและการดำเนินการของโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นหน่วยงานที่สัมผัสกับตัวนักเรียนผู้รับการศึกษาโดยตรง ” ซึ่งมีความสอดคล้องกับที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พุทธศักราช 2545 ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ , 2545 : 7 ) มาตราที่ 22 กำหนดไว้ว่า “.....การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริม ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ…” การจัดการศึกษาจะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น พฤติกรรมในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาที่ให้ความทุ่มเทในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการมีส่วนร่วมให้การสนับสนุนของผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงเรียนในการพัฒนาการศึกษา ผลของปัจจัยเหล่านี้จะสะท้อนถึงความสำเร็จของการปฏิบัติงานคุณภาพของบุคลากร สถานศึกษา และมาตรฐานของโรงเรียน ( กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา. 2547:1-2 )สถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จทางด้านการจัดการศึกษานั้น องค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในอันดับต้นๆ คือพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารโรงเรียน ที่ได้แสดงออกกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เกิดการยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหารด้วยความพึงพอใจ เพราะความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรย่อมทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้วางไว้ นั่นคือผู้เรียนมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา มีความรู้ คุณธรรมจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มนุษย์จะเป็นบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้นั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการ คือผู้บริหารสถานศึกษา การจัดการศึกษาเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคนและรวมถึงการพัฒนาประเทศ ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนจะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้และติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆอยู่เสมอเพราะผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้นำของสถานศึกษาในการจัดการงานต่างๆให้มีคุณภาพ โดยผู้บริหารโรงเรียนมีบทบาทในการวางแผนการกำหนดนโยบาย นำแผนไปสู่การปฏิบัติควบคุมดูแลให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมา ได้รับการวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำหน้าที่ หรือบทบาทสำคัญดังกล่าวได้ เพราะมีปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะพิจารณาในด้านปริมาณ และคุณภาพ ความจริงที่ปรากฏและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และข้อเท็จจริงที่พบจากงานวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารากฐานสำคัญของปัญหาคือ คนไทยส่วนใหญ่ขาดภูมิปัญญาในการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา ตลอดจนไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก บุคคลระดับผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังขาดซึ่งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ขาดภาวะผู้นำ และขาดการรอบรู้ในสภาวการณ์ และกลยุทธ์ในการบริหารอย่างเพียงพอ ( รุ่ง แก้วแดง. 2542 ก. : 1-2 , ประเวศ วะสี. 2541 : 29, สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา, 2544 : 3 ) และจากข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ( พ.ศ. 2552 -2561 )โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ( 2552 : 2 ) ได้ระบุเอาไว้ดังนี้ “ ...ยังมีอีกหลายเรื่องที่มีปัญหาต้องเร่งพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด โดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ที่พบว่า มีสถานศึกษาจำนวนมากไม่ได้มาตรฐาน ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งการคิด วิเคราะห์ ใฝ่เรียนรู้และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง คุณธรรม จริยธรรม ในด้านครู คณาจารย์ พบว่า มีปัญหาขาดแคลนครู คณาจารย์ ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม ไม่ได้คนเก่ง คนดี และใจรักมาเป็นครู คณาจารย์ ในด้านการบริหารจัดการ พบว่า ยังไม่การกระจายอำนาจบริหารจัดการทั้งสู่สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเป้าหมายรวมทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง...” ดังนั้นพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในอันที่จะนำมาซึ่งผลของการบริหารการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

         สถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จทางด้านการจัดการศึกษานั้น องค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในอันดับต้นๆ คือพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ได้แสดงออกต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เกิดการยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหารด้วยความพึงพอใจ เพราะความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรย่อมทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้วางไว้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการบริหารจัดการ คือผู้บริหารสถานศึกษา การศึกษาเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคนและรวมถึงการพัฒนาประเทศ ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้และติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆอยู่เสมอเพราะผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้นำของสถานศึกษาในการจัดการงานต่างๆให้มีคุณภาพ โดยผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทในการวางแผนการกำหนดนโยบาย นำแผนไปสู่การปฏิบัติควบคุมดูแลให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ พนม พงษ์ไพบูลย์ ( 2544: 7 ) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ ความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษา กว่าร้อยละ 50 เป็นผลเนื่องมาจากผู้บริหาร ผู้บริหารจึงนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา และการปฏิบัติงานของทุกฝ่ายเพราะผู้บริหารเป็นผู้ที่มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงสุด ถ้าผู้บริหารไม่มีความเข้าใจและไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตนก็จะเกิดความล้มเหลว จึงกล่าวได้ว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการจัดการศึกษาอย่างยิ่ง ” นอกจากนี้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องปรับตัวปรับวิธีการบริหารเพื่อให้เกิดความก้าวหน้ากับผู้ร่วมงาน การบริหารสถานศึกษาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับคนและงานเท่าๆกัน ความสัมพันธ์อันดี การจูงใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ การพัฒนาให้ก้าวหน้ามั่นคง ยั่งยืน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ผู้ร่วมงานให้ความจงรักภักดีต่อสถาบัน ผู้บริหารจะต้องสามารถนำคณะครู เป็นที่พึ่งและเป็นแบบอย่างให้กับครูได้ด้วย ฉะนั้นผู้บริหารสถานศึกษาที่ดีจะต้องรู้จักใช้อำนาจให้เหมาะสม โดยมีความสุจริตยุติธรรมและตั้งอยู่บนรากฐานของคุณธรรม ให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถความรับผิดชอบและความต้องการของบุคลากรในสถานศึกษา ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อีกด้านหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการบริหารกิจการใดๆที่เกี่ยวกับสาธารณะในยุดโลกภิวัตร มีความจำเป็นต้องอาศัยผู้บริหาร จึงจะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นบรรลุจุดมุ่งหมาย รวมถึงการบริหารสถานศึกษาก็จำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ จึงจะทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาประสบความสำเร็จและเป็นไปตามแนวทางที่พึงประสงค์ ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545 ก : 1 ) นั่นหมายถึงว่า การที่ผู้เรียนจะจบหลักสูตร มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจ มีพื้นฐานทางความคิด มีประสิทธิภาพในการทำงานนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้ออกแบบและจัดระบบการศึกษา ทั้งระบบความคิด และระบบการบริหาร ซึ่งหมายถึงการนำเอาทรัพยากรเพื่อการศึกษาไปใช้ในกระบวนบริหารให้เกิดผลผลิตทางการศึกษาที่ประเทศชาติต้องการ ( เกษม วัฒนชัย, 2546 : 2 )

         จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาจะทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมในการบริหารสถานศึกษา ดังนั้นเพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาอิทธิพลของจิตลักษณะและสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ดังนี้

1.การวิเคราะห์ข้อมูล ในการศึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณเชิงเส้น

2. ตัวแปรที่ใช้ในการทำนาย กล่าวคือ จากการศึกษาที่ได้จะเห็นได้ว่าตัวแปรทั้งหมดที่ใช้ในการศึกษาสามารถร่วมกันทำนายประสิทธิภาพการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาลได้

3. กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาพบว่าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ที่อยู่ทั่วประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามพบว่าการบริหารสถานศึกษาเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ(Scholarly work) ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน (Clear goals) มีการเตรียมการอย่างเพียงพอ (Adequate preparation) มีวิธีการที่เหมาะสม (Appropriate methods) ผลที่ได้มีความสำคัญ(Significatl results) มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective presentation) และมีวิธีการวิจารณ์ที่ให้แง่คิด (Reflective critique) (Glassick, Huber; & Maeroff. 1997: 25)

          พฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด ที่ผู้วิจัยได้สังเคราะห์จากเอกสารและงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา ที่เป็นปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ด้านประกอบด้วย 1 ) พฤติกรรมความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ 2 ) พฤติกรรมการคำนึงถึงความเป็นเอกตบุคคล 3 ) พฤติกรรมการกระตุ้นทางปัญญา 4 ) พฤติกรรมการสร้างแรงบันดาลใจ 5 ) พฤติกรรมการให้รางวัลตามสถานการณ์ 6 ) พฤติกรรมการเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งมีผลเกิดมาจากตัวแปรจำนวน 3 ด้านคือ 1 ) ด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ที่ประกอบด้วย ภาวะผู้นำ ทัศนคติที่ดีต่อการบริหาร แรงจูงใจในการทำงา และความพึงพอใจ 2 ) ตัวแปรด้านสถานการณ์ในการทำงานที่ประกอบด้วย การถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน การรับรู้ความสามารถของตน และความเครียดที่มีสาเหตุจาการทำงาน 3 )ตัวแปรจิตลักษณะเดิม ประกอบด้วย บุคลิกภาพ การตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานทางการศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชนได้นำผลจากการศึกษาไปเป็นแนวทางในการพิจารณาถึงปัจจัยที่ควรส่งเสริม และพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพของการบริหารการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาได้อย่างมั่นใจต่อไป



วัตถุประสงค์การศึกษา

การศึกษาวิจัยอิทธิพลของจิตลักษณะและสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ดังนี้

1. เพื่อศึกษาอิทธิพลของจิตลักษณะและสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา

2. เพื่อศึกษาจิตลักษณะเดิมและจิตลักษณะตามสถานการณ์ของผู้บริหารสถานศึกษา

3. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาในด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ด้านสถานการณ์ในการทำงาน และด้านจิตลักษณะเดิม

4. เพื่อสร้างสมการพยากรณ์พฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา



กรอบแนวคิดในการวิจัย

         ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัย ได้ศึกษาพฤติกรรมของบุคคล โดยมีการบูรณาการระหว่างสาขาจิตวิทยาที่มีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุทางจิตใจของพฤติกรรมของบุคคลกับสาขาบริหารการศึกษา เพื่อให้ทราบถึง สาเหตุทางด้านสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบุคคล ทางด้านการบริหารสถานศึกษา ซึงมีแนวทางดังนี้

        แนวทางการศึกษาปัจจัยเชิงเหตุของพฤติกรรมของบุคคล

        การศึกษาเพื่อที่จะได้สามารถเข้าใจถึงการเกิดของพฤติกรรมหรือการแสดงออกของมนุษย์ ที่จะนำไปสู่การทำนายและควบคุมพฤติกรรมที่ไม่น่าปรารถนาหรือเสริมสร้างพฤติกรรมที่น่าปรารถนาต่างๆ การศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคล อาจแบ่งได้เป็น 4 แนวทางหลัก ได้แก่

1. การศึกษาสาเหตุด้านชีวพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม (Biological approach)นักวิชาการในอดีตเชื่อว่า ความสามารถของบุคคล ซึ่งรวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของบุคคล มีมาแต่กำเนิด เช่น บุคคลเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการทางด้านชีวพันธุกรรมเชื่อว่า พฤติกรรมของบุคคลมีอิทธิพลมาจากยีนและระบบการทำงานของร่างกายของบุคคล เช่น บุคคลที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองอาจแสดงพฤติกรรมวิปลาสได้ (Harrington, 1938; Leger, 1992)

2. การศึกษาสาเหตุด้านบุคลิกภาพและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม (Personality approach หรือ Trait approach) นักวิชาการในกลุ่มนี้มีความเห็นตรงกันว่า บุคลิกภาพและจิตใจด้านอื่นๆ ของบุคคลมีอิทธิพลสูงสุดต่อการแสดงพฤติกรรมของเขา หรือ อีกนัยหนึ่งคือ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” โดยนักวิชาการที่มีอิทธิพลในกลุ่มนี้ คือ Gordon W. Allport (1966) นักวิชาการสาขาจิตวิทยาที่สำคัญในปัจจุบันหลายท่านยังคงให้ความสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาจิตใจในฐานะสาเหตุของพฤติกรรม จึงมีการศึกษาต่ออย่างลึกซึ้งและกว้างขวางเกี่ยวกับลักษณะทางจิตใจ เช่น บุคลิกภาพ แรงจูงใจ ทัศนคติ สติปัญญา จิตลักษณะ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นต้น

3. การศึกษาสาเหตุด้านสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม (Behavioral approach) เป็นการศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคลที่เน้นเกี่ยวกับสาเหตุที่อยู่ภายนอกตัวบุคคล (Situation หรือ Environment) โดยผู้ที่เริ่มต้นศึกษา คือ Walter Mischel ซึ่งเป็นชาวออสเตรีย และเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เนื่องจาก Mischel (1968) เห็นว่า บุคลิกภาพของบุคคลมักจะแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เขาเผชิญอยู่ จึงเห็นว่าสถานการณ์น่าจะมีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคลด้วย ดังนั้นนักวิชาการในแนวนี้จึงเริ่มจากการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุภายนอกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสัตว์ ทำให้เกิดวงวิชาการและองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม (Behavioral modification) (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2543)โดยนักวิชาการที่สำคัญ เช่น Ivan P. Pavlov เป็นชาวรัสเซียที่มีผลวิจัยเลื่องชื่อเกี่ยวกับการศึกษา “เงื่อนไข” ของการเกิดพฤติกรรม โดยศึกษาสาเหตุของการที่ทำให้สุนัขน้ำลายไหล และสามารถบังคับให้น้ำลายของสุนัขไหลได้ตามช่วงที่ต้องการ ซึ่งในปัจจุบันเรียกกระบวนการนี้ว่า “Reflex” นอกจากนี้นักวิชาการที่สำคัญอื่นๆ เช่น John B. Watson และ B.F. Skinner ที่ศึกษาเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม เป็นต้น นักวิชาการในกลุ่มนี้เชื่อว่า พฤติกรรมของบุคคลเกิดจากการเรียนรู้ การสอน หรือการฝึกฝน เป็นสำคัญ

4. การศึกษาบูรณาการของสาเหตุหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม (Interaction approach)ในช่วงปลายของยุคการศึกษาสถานการณ์ในฐานะสาเหตุของพฤติกรรม มีนักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า พฤติกรรมของบุคคลอาจมีสาเหตุมาจากทั้งทางด้านจิตใจและด้านสถานการณ์รอบตัวบุคคลผสมผสานกัน ตลอดจนเกิดจากอิทธิพลร่วมกันระหว่างจิตใจของบุคคลกับสถานการณ์แวดล้อมที่บุคคลเผชิญในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1977 กลุ่มนักวิชาการทางจิตวิทยานำโดย David Magnusson และ Norman S. Endler เป็นบรรณาธิการ ได้นำเสนอตำราที่ชื่อว่า “Personality at the crossroads” ได้ประมวลทฤษฎีที่ใช้แนวความคิดในการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลในเชิงบูรณาการจิตใจและสถานการณ์เข้าด้วยกัน(Magnusson, 1999) เช่น ทฤษฎี Contingency theory of leadership effectiveness ของ Fiedler (1967) โดยเน้นว่าควรศึกษาในเชิงของ “Holistic perspective” (Magnusson, 2001) ซึ่งทำให้นกวิชาการที่นิยมแนวคิดนี้สามารถบูรณาการทฤษฎีและผลการวิจัยในหลากหลายสาขาในการทำความเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคลได้มากยิ่งขึ้น (Bergman, 2001) และยังนำไปสู่การพัฒนาวิธีการทางสถิติขั้นสูง ทำให้ได้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วย ในการศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมของมนุษย์มีนักวิชาการโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันเสนอแนวความคิดที่ว่า 1) พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากสาเหตุที่สำคัญหลายด้าน โดยสายที่สำคัญ คือ สาเหตุด้านจิตลักษณะ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีต่างๆ ในแนวจิตนิยม (Trait approach) และ สาเหตุด้านสถานการณ์จากทฤษฎีต่างๆ ในแนวพฤติกรรมนิยม (Behavioral approach) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีต่างๆ ในแนวสถานการณ์นิยม และ 2) ในสาเหตุแต่ละด้าน ยังประกอบด้วยสาเหตุหลายประการด้วย จากพื้นฐานความคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการสรุปแนวความคิดที่เป็นสังกัปใหญ่โดยรวมในการศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคล ที่เรียกว่า รูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยม (Interactionism model) (Endler & Magnusson, 1976; Walsh, Craik, & Price, 2000; Tett & Burnett, 2003) สรุปว่า สาเหตุของพฤติกรรมของมนุษย์ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก สาเหตุด้านสถานการณ์ (Situational factors)

        สิ่งที่อยู่รอบตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น พ่อแม่ ครู เพื่อน หัวหน้า เป็นต้น หรือไม่มีชีวิต เช่น อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น ต่างมีอิทธิพลต่อการกระทำของบุคคล มักอยู่ในลักษณะที่บุคคลรับรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ตีความ และแสดงพฤติกรรมเพื่อปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่รอบตัวนั้น เช่น การรับรู้การสนับสนุนทางสังคมจากคนรอบข้าง เมื่อบุคคลรอบข้างมีการแสดงออกเกี่ยวกับการสนับสนุนช่วยเหลือตนอย่างไร ในปริมาณมากน้อยเพียงใด และมีความถี่ขนาดไหน การแสดงออกเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่บุคคลรับรู้ แล้วนำมาตีความว่า ตนได้รับการสนับสนุนทางสังคมอย่างไร หลังจากนั้นบุคคลจึงแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นผลของการได้รับการสนับสนุน ทางสังคมจากคนรอบข้าง เป็นต้น สถานการณ์เหล่านี้อาจอยู่ในลักษณะ 2 ประการ คือ ประการแรก สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมที่น่าปรารถนา เป็นสิ่งรอบตัวที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมหนึ่งๆ เช่น สถานการณ์การได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและใช้เหตุผลมาก การเห็นแบบอย่างที่เหมาะสมมาก การเปิดรับข่าวสารที่มีประโยชน์มาก เป็นต้น และ ประการที่สอง สถานการณ์ที่ขัดขวางมิให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งเป็นสิ่งรอบตัวบุคคลที่ขัดขวาง เป็นอุปสรรคมิให้บุคคลแสดงพฤติกรรมหนึ่งๆ ได้ เช่น สถานการณ์การอยู่ใกล้แหล่งยั่วยุ การมีภาระงานที่หนักเกินไป เป็นต้น

          ทฤษฎีในสาขาจิตพฤติกรรมศาสตร์ที่กล่าวถึงสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคลว่ามาจากสถานการณ์รอบตัวบุคคลมีหลายทฤษฎี ทฤษฎีที่เกี่ยวสถานการณ์นิยมในสาขาจิตวิทยา เช่น ทฤษฎีการเสริมแรง (Theory of reinforcement) ของ Skinner ที่แสดงให้เห็นว่า การให้รางวัลหรือการลงโทษสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์และบุคคลได้ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social learning theory) ของ Bandura (1977) กล่าวถึงอิทธิพลของตัวแบบที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีและหลักการอื่นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคล เช่น การสนับสนุนทางสังคม (Social support) การสนับสนุนจากองค์กร (Organizational support) เป็นต้น


      กลุ่มที่สอง สาเหตุด้านจิตลักษณะเดิม (Psychological traits)

       จิตลักษณะเดิมเป็นจิตลักษณะที่เกิดจากการสะสมตั้งแต่เด็กและติดตัวบุคคลมาในสถานการณ์หนึ่งๆ ซึ่งมักเป็นจิตลักษณะที่มีพื้นฐานมาจากการอบรมถ่ายทอดทางสังคมจากสถาบันทางสังคมที่สำคัญ

       กลุ่มที่สาม สาเหตุที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตลักษณะเดิมและสถานการณ์

       สาเหตุด้านที่สามตามรูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยมเป็นสาเหตุที่เกิดจากอิทธิพลร่วมกันระหว่างจิตลักษณะเดิมของบุคคลกับสถานการณ์ที่บุคคลกำลังเผชิญ ซึ่งเรียกว่า “Mechanical interaction”

        กลุ่มที่สี่ สาเหตุด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ (Psychological states)

        สาเหตุด้านสุดท้ายนี้เป็นจิตลักษณะอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตลักษณะ ที่มีความเป็นพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณและ/หรือในเชิงคุณภาพได้มาก อันเป็นผลของสถานการณ์ปัจจุบันร่วมกับลักษณะของจิตเดิมของบุคคลและมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด จิตลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์นี้เรียกว่า “จิตลักษณะตามสถานการณ์”

          ในการศึกษาอิทธิพลของจิตลักษณะและสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาลครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ยึดแนวทางในการตั้งกรอบแนวคิดในการวิจัยและได้ศึกษาตัวแปรที่สำคัญที่พบว่าส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของผู้บริหารสถานศึกษาจากแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ดังนี้คือ กลุ่มตัวแปรจิตลักษณะเดิมของบุคคล ประกอบด้วยตัวแปรการตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ ตัวแปรบุคลิกภาพสร้างสรรค์ กลุ่มตัวแปรลักษณะสถานการณ์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ตัวแปรการได้รับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน ตัวแปรการรับรู้ในหน้าที่ของตน และตัวแปรความเครียดที่มีสาเหตุจากงาน กลุ่มตัวแปรจิตลักษณะตามสถานการณ์ ประกอบด้วย ตัวแปรลักษณะภาวะผู้นำ ตัวแปรความพึงพอใจในการทำงาน ตัวแปรทัศนคติที่ต่อการทำงานและตัวแปรแรงจูงใจในการทำงาน ดังภาพประกอบ


สมมติฐานการวิจัย

         จากกรอบแนวคิดการวิจัย ผู้วิจัยได้นำตัวแปรต่างๆ ได้มากำหนดเป็นสมมติฐาน ( Hypothesized model ) เป็นการแสดง สมมติฐานความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา โดยสมมติฐานนี้เกิดขึ้นจากกรอบแนวคิดที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัยศึกษาตัวแปรสำคัญที่พบว่ามีผลต่อการปฏิบัติงานหรือพฤติกรรมการทำงานของบุคคลจากทฤษฎีและแนวคิดที่สำคัญต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้วิจัยจึงกำหนดสมมติฐานการวิจัยว่าแบบจำลองสมมติฐานที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นจะมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีสมมติฐานย่อยตามเส้นทางอิทธิพลของตัวแปรต่างๆ ดังนี้

1. เพื่อศึกษาอิทธิพลของจิตลักษณะตามสถานการณ์ จิตลักษณะเดิมและลักษณะสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล

2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของจิตลักษณะเดิมและลักษณะสถานการณ์การทำงานที่ส่งผลต่อจิตลักษณะตามสถานการณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล

3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ภายในของจิตลักษณะเดิม ลักษณะสถานการณ์ในการทำงาน จิตลักษณะตามสถานการณ์ และพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล

4. เพื่อสร้างสมการพยากรณ์พฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล

      ขอบเขตการวิจัย

       ประกอบด้วย

1.ด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

1.1ประชากรที่ใช้ในการวิจัย

      ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนายการสถานศึกษา รองผู้อำนายการสถานศึกษา ในสังกัดเทศบาล กรมส่งเริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

        กลุ่มตัวอย่างสุ่มมาจากผู้บริหารสถานศึกษาที่ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ

รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดเทศบาล กรมส่งเริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

โดยวิธีการสุ่มสองขั้นตอน (Two-stage random sampling) จำนวน 500 คน





   ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย

      ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยตัวแปรแฝง ซึ่งเป็นองค์ประกอบแต่ละด้านที่ผู้วิจัย จะได้นำมาศึกษา ดังนี้

       ตัวแปรที่ผู้วิจัยศึกษา จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. พฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย 1 ) พฤติกรรมความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ 2 ) พฤติกรรมการคำนึงถึงความเป็นเอกบุคคล 3 ) พฤติกรรมการกระตุ้นปัญญา 4 ) พฤติกรรมการสร้างแรงบันดาลใจ 5 ) พฤติกรรมการให้รางวัลตามสถานการณ์ 6 ) พฤติกรรมการเป็นผู้นำทางวิชาการ

2. ลักษณะสถานการณ์ในปัจจุบันของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย

2.1 การถ่ายทอดทางสังคมในองค์กร ( Organizational socialization ) ประกอบด้วยการได้รับการถ่ายทอดทางสังคมจากองค์การ ( Socializational tactics ) และการได้รับการถ่ายทอดทางสังคมจากกลุ่มเพื่อนที่ทำงานร่วมกัน ( Work groups tactics )

2.2 การรับรู้ถึงความสามารถของตนในการทำงาน ( Percieved control ) ประกอบด้วย การรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตัดสินใจในงาน ( Participative decision making ) และการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความมีอิสระในการทำงาน ( Job autonomy )

2.3 ความเครียดที่มีสาเหตุจากาการทำงาน ประกอบด้วย ความเครียดที่มีสาเหตุจากงานที่มีผลกระทบต่อบุคคลทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและการปฏิบัติงาน

3. จิตลักษณะเดิมของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย

3.1 บุคลิกภาพสร้างสรรค์ ( Creative personality ) ประกอบด้วยความเป็นอิสระ ( Independence ) ความไม่ยอมคล้อยตาม ( Nonconformity ) ความอยากรู้อยากเห็น ( A wide set of interests ) การเปิดกว้างในการรับประสบการณ์ใหม่ ( Openness to new experiences ) การมีความยืดหยุ่นทางด้านความคิด ( Flexibility ) และความกล้าที่จะเสี่ยง ( Risk taking )

3.2 ความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ ( Conscientiousness ) ประกอบด้วย ความมีสมรรถนะ ( Competence ) ความมีระบบระเบียบ ( Order ) การยึดมั่นในหน้าที่และความรับผิดชอบ ( Dutifulness ) การมุ่งความสำเร็จ ( Achievement striving ) การมีวินัยในตนเองและความสุขุมรอบคอบ ( Deliberation )

4. จิตลักษณะตามสถานการณ์ของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย

4.1 ภาวะผู้นำ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( transformational leadership ) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน ( transactional leadership )

4.2 ความพึงพอใจในการทำงาน ประกอบด้วย ความพึงพอใจในงานด้านบริบทและความพึงพอใจในลักษณะงาน

4.3 ทัศนคติที่ดีต่อการบริหาร ประกอบด้วย ความรู้เชิงประเมินค่าเกี่ยวกับประโยชน์และโทษ ความรู้สึกที่ดีของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีต่อพฤติกรรมการบริหาร

4.4 แรงจูงใจในการทำงาน ประกอบด้วย การเพิ่มพลังในการทำงาน การเพิ่มความพยายามในการทำงานเป็นต้น



        ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

        การศึกษาวิจัยอิทธิพลของจิตลักษณะและสถานการณ์ในการทำงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาน่าจะก่อให้เกิดคุณค่าทั้งทางด้านวิชาการและด้านการปฏิบัติดังนี้

1. ผลที่ได้ด้านวิชาการ

ทำให้ได้ข้อค้นพบ ในการอธิบายพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล จากการบูรณาการตัวแปรที่เป็นสาเหตุสำคัญต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหาร มีทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย 1 ) พฤติกรรมความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ 2 ) พฤติกรรมการคำนึงถึงความเป็นเอกบุคคล 3 ) พฤติกรรมการกระตุ้นปัญญา 4 ) พฤติกรรมการสร้างแรงบันดาลใจ 5 ) พฤติกรรมการให้รางวัลตามสถานการณ์ 6 ) พฤติกรรมการเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งเกิดมาจากตัวแปรที่เป็นสาเหตุ 3 ด้านคือ 1 ) ด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ ที่ประกอบด้วย ภาวะผู้นำ ทัศนคติที่ดีต่อการบริหาร แรงจูงใจในการทำงานและความพึงพอใจ 2 ) ตัวแปรด้านสถานการณ์ในการทำงานที่ประกอบด้วย การถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน การรับรู้ความสามารถของตน ความเครียดที่มีสาเหตุจาการทำงาน 3 ) ตัวแปรด้านจิตลักษณะเดิม ประกอบด้วย บุคลิกภาพ การตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการประสานแนวคิดและทฤษฎีทางการบริหารการศึกษา ทางจิตวิทยา และสังคมวิทยา โดยการบูรณาการเข้าด้วยกัน

2. ผลที่ได้เชิงปฏิบัติ

2.1 ทำให้ทราบถึงระดับพฤติกรรมความสามารถในด้านการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนเพื่อที่จะส่งเสริมหรือพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาต่อไป

2.2 ทำให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดเทศบาล ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนในการนำผลที่ได้ไปเป็นแนวทางในการพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญที่ควรส่งเสริมและพัฒนาเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการบริหารการศึกษาต่อไปในอนาคต


     นิยามศัพท์

      1.พฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึงพฤติกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา ที่การบริหารสถานศึกษาโดยเป็นกระบวนการนำการเปลี่ยนแปลงและความความพยายามของผู้ร่วมงานและผู้ตามให้สูงขึ้นตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ พัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงานและผู้ตามไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและศักยภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภารกิจและวิสัยทัศน์ของทีมและของสถานศึกษา จูงใจให้ผู้ร่วมงานและผู้ตามมองให้ไกลเกินกว่าความสนใจของพวกเขาไปสู่ประโยชน์ของกลุ่ม ของสถานศึกษาหรือชุมชน โดยใช้แรงขับหรือทักษะทางการบริหาร เพื่อให้เกิดการบริหารงานบรรลุเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบของพฤติกรรมการบริหารสถานศึกษา 6 ด้าน คือ

1.1 พฤติกรรมการสร้างวิสัยทัศน์ ( Vision ) หมายถึง การที่ผู้บริหารสถานศึกษาได้กำหนดและสร้างภาพให้ผู้ร่วมงานในสถานศึกษารับรู้ว่าในอนาคตของสถานศึกษาจะเป็นเช่นไร อธิบายและจูงใจให้ครูให้เห็นและมองทิศทางในการปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันโดยมีพื้นฐานอยู่บนความจริง มีเป้าหมายร่วมกัน เชื่อมโยงวัตถุประสงค์ ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อมั่นเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งพรรณนาให้เห็นทิศทางของการพัฒนาสถานศึกษาอย่างชัดเจน มีพลังท้าทาย ทะเยอทะยาน และมีความเป็นไปได้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของสถานศึกษาที่วางเอาไว้

1.2 พฤติกรรมการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล ( Individualized Consideration ) ผู้บริหารมีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล ยอมรับจุดอ่อน จุดแข็งของผู้ร่วมงาน และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม สามารถก่อเกิดประโยชน์สูงสุด

1.3 พฤติกรรมการกระตุ้นปัญญา ( Intellectual Stimulation ) หมายถึง การที่ผู้บริหารสถานศึกษาได้กระตุ้นให้ครูเกิดความริเริ่มสร้างสรรค์ในการปฏิบัติงานการสอน กระตุ้นให้ครูได้ใช้แนวทางใหม่ ๆ ในการสอน มีการปรับปรุงวิธีการทำงาน ส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีการวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้เหตุผลและข้อมูลเป็นหลักฐาน

1.4 พฤติกรรมการสร้างแรงบันดาลใจ ( Inspiration ) หมายถึง การที่ผู้บริหารสถานศึกษาได้ใช้คำพูดปลุกปลอบใจให้ครูมีกำลังใจในการปฏิบัติงานสอน กระตุ้นให้ครูเกิดความกระตือรือร้นในการทำงานอยากอุทิศตนในการทำงาน ครูเกิดความเชื่อมั่นและภูมิใจว่าสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายบรรลุสำเร็จ

1.5 พฤติกรรมการให้รางวัลตามสถานการณ์ ( Contingent ) หมายถึง ผู้บริหารสถานศึกษาได้ให้รางวัลตอบแทนแก่ครูที่ร่วมงานสำหรับครูที่มีความพยายามในการปฏิบัติงาน เช่น การชมเชย การสนับสนุน และการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน

1.6 พฤติกรรมการเป็นผู้นำทางวิชาการ ( Instructional Leadership ) หมายถึง ผู้บริหารสถานศึกษามีความสามารถในการนำเอาความรู้ วิธีการ แนวคิด เทคนิคในการจัดการศึกษามาใช้ เช่น การวางแผนและการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ การจัดการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร การวิจัย มาใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษา

2. ลักษณะสถานการณ์ในปัจจุบันของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมที่น่าปรารถนา เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา และสถานการณ์ที่ขัดขวางมิให้เกิดพฤติกรรม เป็นอุปสรรค์มิให้ผู้บริหารสถานศึกษาแสดงพฤติกรรมการบิหารสถานศึกษา ประกอบด้วย

2.1 การได้รับการถ่ายทอดทางสังคม หมายถึง การที่บุคคลได้รับการอบรมหรือได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการบริหารการศึกษา จำแนกเป็นการได้รับการถ่ายทอดทางสังคมจากองค์การและการได้รับการถ่ายทอดทางสังคมจากกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน โดย

1) การได้รับการถ่ายทอดทางสังคมจากองค์การ หมายถึง การที่บุคคลได้รับการเอื้ออำนวยจากองค์การให้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านการบริหาร เช่น การเข้ารับการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

2) การได้รับการถ่ายทอดทางสังคมจากกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน หมายถึง การที่บุคคลได้รับการถ่ายทอด การชี้แนะและโอกาสจากผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไป หรือเกลุ่มเพื่อน ในการพัฒนาความรู้และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานการบริหารการศึกษา

2.2 ความเครียดที่มีสาเหตุจากการทำงาน หมายถึง การงานที่ทำจะมีข้อเรียกร้องจากงานหรือความกดดันสูง แต่ถ้าบุคคลรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการควบคุมการทำงานของตนเองก็จะทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การที่บุคคลรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการควบคุมการทำงานของตนเองจะช่วยลดระดับความเครียดในกาทำงานและช่วยเพิ่มการปฏิบัติงานของบุคคล

2.3 การรับรู้ในหน้าที่ของตน หมายถึง ระดับที่บุคคลรับรู้ว่าจะสามารถกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง จำแนกเป็นการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตัดสินใจในงานและการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความมีอิสระในการทำงาน โดย

1) การรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตัดสินใจในการทำงาน หมายถึง ระดับที่บุคคลรับรู้ว่ามีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการบริหารจัดการในโรงเรียนของตนเอง

2) การรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความมีอิสระในการทำงาน หมายถึง ระดับที่บุคคลรับรู้ว่ามีเสรีภาพในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการภายในโรงเรียนของตนเอง

3. จิตลักษณะเดิมของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง จิตลักษณะเดิมที่เกิดจากการสะสมมาตั้งแต่เด็กปละติดตัวบุคคลมาในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ซึ่งมักเป็นจิตลักษณะพื้นฐานมาจากการได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว โรงเรียน และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย

3.1 บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลที่สะท้อนถึงความสามารถของบุคคลในการสร้างสรรค์ผลผลิตที่หลากหลายหรือแปรรูปสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เป็นรูปแบบใหม่ ประกอบด้วยความเป็นอิสระ ความไม่ยอมคล้อยตาม ความอยากรู้อยากเห็น การเปิดกว้างในการรับประสบการณ์ใหม่การมีความยืดหยุ่นทางด้านความคิดและพฤติกรรมและความกล้าที่จะเสี่ยง

1) ความเป็นอิสระ หมายถึง การที่บุคคลมีความเป็นตัวของตนเอง มีแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง กล้าที่จะตัดสินใจโดยใช้วิธีการใหม่ๆ ที่อยู่บนหลักการของความมีเหตุผลมากกว่าที่จะยึดตามแนวคิดหรือวิธีการคิดแบบเดิมๆ

2) ความไม่ยอมคล้อยตาม หมายถึง การที่บุคคลไม่ยอมคล้อยตามความคิดเห็นของบุคคลอื่นโดยมิได้พินิจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

3) ความอยากรู้อยากเห็น หมายถึง การที่บุคคลชอบที่จะค้นหาคำตอบและทุ่มเทความพยายามอย่างมากเพื่อที่จะทำงานที่สนใจให้สำเร็จจนได้ ไม่ว่างานนั้นจะยากและสลับซับซ้อนเพียงใดก็ตาม

4) การเปิดกว้างในการรับประสบการณ์ใหม่ หมายถึง การที่บุคคลเปิดกว้างต่อจินตนาการเปิดกว้างต่ออารมณ์ความรู้สึก เต็มใจที่จะลองทำกิจกรรมที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยทำ มีจิตใจที่เปิดกว้างพร้อมที่จะคิดสิ่งใหม่ๆ และเปิดกว้างต่อการคิดวิเคราะห์ค่านิยมต่างๆ

5) การมีความยืดหยุ่น หมายถึง การที่บุคคลไม่ยึดมั่นอยู่กับความคิดหรือการกระทำในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจนเกินไป สามารถเปลี่ยนความคิดของตนเองและยอมรับความคิดของผู้อื่นได้เมื่อพบว่าความคิดของตนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

6) ความกล้าที่จะเสี่ยง หมายถึง การที่บุคคลมีความกล้าที่จะทดลองหรือเล่นกับ

ความคิดใหม่ๆ ของตน ไม่ขลาดกลัวต่อสิ่งที่ลึกลับหรือยังไม่ชัดเจน กลับรู้สึกพอใจและตื่นเต้นที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น

3.2 การตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบ หมายถึง ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความต้องการที่จะฝึกฝนตนเอง ควบคุมตนเองและการทำตามจิตสำนึกที่ตนเองตั้งไว้ประกอบด้วย ความมีสมรรถนะ ความมีระบบระเบียบ การยึดมั่นในหน้าที่และความรับผิดชอบ การมุ่งความสำเร็จ การมีวินัยในตนเองและความสุขุมรอบคอบ โดย

1) ความมีสมรรถนะ หมายถึง การมีความสามารถ มีเหตุผล ไหวพริบ มองการณ์ไกลมีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ มีการเตรียมการสำหรับจัดการกับชีวิตตนเองได้อย่างสมเหตุสมผล

2) ความมีระบบระเบียบ หมายถึง การมีความสามารถที่จะจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ มีการจัดเก็บสิ่งของให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

3) การยึดมั่นในหน้าที่และความรับผิดชอบ หมายถึง การยึดมั่นตามหลักจริยธรรม มีศีลธรรมเป็นหลักของจิตใจและการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้

4) การมุ่งความสำเร็จ หมายถึง การมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าและลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีความขยันหมั่นเพียร มีเป้าหมายหรือทิศทางของชีวิต

5) การมีวินัยในตนเอง หมายถึง การมีความสามารถเริ่มต้นงานและปฏิบัติงานจนสำเร็จแม้ว่าต้องเผชิญกับความน่าเบื่อหน่ายและสิ่งรบกวนจิตใจอื่นๆ มีความสามารถสูงที่จะจูงใจตนเองให้ทำงาน

6) ความสุขุมรอบคอบ หมายถึง การคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือทำ

4. จิตลักษณะตามสถานการณ์ของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง จิตลักษณะที่มีความเป็นพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณและ/หรือในเชิงคุณภาพได้มาก อันเป็นผลของสถานการณ์ปัจจุบันร่วมกับลักษณะของจิตเดิมของบุคคลและมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด จิตลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์นี้เรียกว่า จิตลักษณะตามสถานการณ์ ประกอบด้วย

4.1 ภาวะผู้นำ ( leadership ) ของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง พฤติกรรมการบริหารสถานศึกษา แต่ละคนที่ใช้ในการบริหารหรือจัดการงานของสถานศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ สถานศึกษา โดยมีผลให้เกิดพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา มีภาวะผู้นำ 2 แบบ คือ

1) ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( Transformational Leadership ) หมายถึง กระบวนการที่ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ร่วมงานและผู้ตาม โดยเปลี่ยนแปลงความพยายามของผู้ร่วมงานและผู้ตามให้สูงขึ้นกว่าความพยายามที่คาดหวัง พัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงานและผู้ตามไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและศักยภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภารกิจและวิสัยทัศน์ของทีมงานและองค์กร จูงใจให้ผู้ร่วมงานและผู้ตามมองเห็นให้ไกลกว่าความสนใจของพวกเขาไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มหรือสังคม โดยผ่านองค์ประกอบพฤติกรรมเฉพาะ 4 ด้าน ได้แก่ การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ การสร้างแรงบันดาลใจ การกระตุ้นทางปัญญา และ การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล

2) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน ( Transactional Leadership ) หมายถึง กระบวนการที่ผู้นำให้รางวัลหรือลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเสริมแรงตามสถานการณ์ ผู้นำจูงใจผู้ตามให้ปฏิบัติงานตามระดับที่คาดหวังไว้ ผู้นำช่วยให้ผู้ตามบรรลุเป้าหมาย ทำให้ผู้ตามเชื่อมั่นปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ผู้นำจูงใจโดยเชื่อมโยงความต้องการและรางวัลกับความสำเร็จตามเป้าหมาย ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยนประกอบด้วย การให้รางวัลตามสถานการณ์ การบริหารแบบวางเฉย

4.2 ความพึงพอใจในงาน หมายถึง การตอบสนองทางอารมณ์หรือความรู้สึกที่น่าพอใจของบุคคลต่องานที่ทำในด้านต่างๆ อันเป็นผลมาจากการรับรู้ว่างานที่ทำบรรลุผลสำเร็จหรืองานนั้นนำไปสู่การบรรลุผลตอบแทนที่มีความหมาย จำแนกเป็นความพึงพอใจในงานด้านบริบทและความพึงพอใจในลักษณะงาน โดย

1) ความพึงพอใจในงานด้านบริบท หมายถึง การตอบสนองทางอารมณ์หรือความรู้สึกที่น่าพอใจของบุคคลต่อบริบทต่างๆ ของงาน ได้แก่ ความมั่นคงในงาน ค่าตอบแทน

2) ความพึงพอใจในลักษณะงาน หมายถึง การตอบสนองทางอารมณ์หรือความรู้สึกที่น่าพอใจของบุคคลต่องานที่ทำ ได้แก่ แรงจูงใจภายในงาน ความก้าวหน้าในงานและความพึงพอใจในงานทั่วๆไป

4.3 ทัศนคติที่ดีในการบริหาร หมายถึง ความรู้สึก ความคิดและความเชื่อของผู้บริหาร สถานศึกษาที่มีต่อสิ่งต่างๆ โดยจะมีผลในการกำหนดทิศทางของพฤติกรรมการบริหาร ซึ่งอาจเป็นไปในทางบวก ทางลบหรือเป็นกลางได้ ที่มีองค์ประกอบดังนี้

1) องค์ประกอบทางด้านการรู้ (Cognitive Component) เป็นการตอบสนองบุคคลในลักษณะของการรับรู้ และการวินิจฉัยข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ เพื่อเป็นเหตุผลที่จะสรุปความและรวมเป็นความเชื่อหรือช่วยประเมินสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร เป็นไปในทางที่ดีหรือไม่ดี ทางบวกหรือทางลบ ซึ่งจะก่อให้เกิดเจตคติขึ้น

2) องค์ประกอบด้านความรู้สึก (Affective Component) เป็นลักษณะทางอารมณ์ของบุคคลที่คล้อยตามความคิด ความเชื่อ ถ้าบุคคลมีเจตคติในแง่ดีต่อสิ่งใดก็จะมีความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งนั้นเจตคติจะแสดงออกมาในรูปของความรัก ความโกรธ ความชอบหรือความไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ

3) องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioral Component) คือ ความพร้อมที่จะกระทำอันเป็นผลเนื่องมาจากความคิด และความรู้สึก ซึ่งออกมาในรูปของการประพฤติปฏิบัติ โดยการยอมรับหรือปฏิเสธ และเป็นการกระทำที่สามารถสังเกตได้ซึ่งองค์ประกอบทั้งสามด้านนี้จะต้องมีความสอดคล้องกัน ถ้าองค์ประกอบใดเปลี่ยนไปเจตคติก็จะเปลี่ยนไปด้วย

4.4 แรงจูงใจในการทำงาน หมายถึง กระบวนการที่บุคคลถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า โดยจงใจให้กระทำหรือดิ้นรนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางอย่างซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจ เป็นพฤติกรรมที่มิใช่เป็นเพียงการตอบสนองสิ่งเราปกติธรรมดา ลักษณะของการตอบสนองสิ่งเร้าปกติธรรมดา

5. ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาล หมายถึง บุคคลผู้ที่ได้รับการแต่ตั้งเพื่อให้ควบคุม ดูแล และรับผิดชอบในกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานศึกษา ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ สำหรับการวิจัยครั้งนี้ หมายถึง ผู้บริหารโรงเรียน และรองผู้บริหารโรงเรียนที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจากเทศบาล ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา

6. ภูมิหลังของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติพื้นฐานของผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษา มีดังนี้ อายุ เพศ ระดับการศึกษา ประสบการณ์การบริหาร และการเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษา